งานศิลปะ ณ วัดโพธิ์ เชื่อมโยง 2 โลก

ช่วงโควิดนี้ มีเวลาว่างเยอะ MRBADBOY ได้ออกไปเดินเล่น ถ่ายภาพ และชมความสวยงามของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ที่เรารู้จักกันดีในชื่อสั้นๆ ว่า วัดโพธิ์ นั่นเอง พร้อมๆ กับแอบมีสุนทรียภาพในงานศิลปะกับเขาบ้าง

นั่งรถไฟฟ้า MRT มาลงที่สถานีสนามไชยและออกประตู 1 ทางออกเดียวกับมิวเซียมสยาม และเดินไปทางซ้าย ก่อนจะเลี้ยวเข้าถนนเชตุพน ตรงกลางระหว่างเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส

วัดโพธิ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก เดิมชื่อว่า “วัดโพธาราม” วัดโบราณเก่าแก่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีจนกระทั่งในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขึ้นเสวยราชสมบัติและได้ย้ายเมืองหลวงจากธนบุรีมายังฝั่งพระนคร มีการสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่ จึงทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธารามที่อยู่ในบริเวณเดียวกันไปด้วย ภายหลังวัดนี้ถือเป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 1

เนื่องจากวัดโพธิ์เป็น 1 ใน 3 วัดที่ถูกเลือกให้จัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัย บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 (Bangkok Art Biennale 2020) หรือสั้นๆ ว่า BAB 2020 MRBADBOY ไม่รอช้าที่เข้าไปชมงานศิลปะของ 2 ศิลปิน ไทยและอินเดีย เพื่ออยากจะรู้ว่า งานของเขาทั้งสองคนสามารถกลมกลืนกับศาสนาได้อย่างไร ก่อนที่จะหมดในวันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564

จุดแรกคือ ศาลาการเปรียญ ที่ติดตั้งงานประติมากรรมชื่อ “Push, Pull II” ของ Anish Kapoor (อนิซ คาพัวร์) ศิลปินจากเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ที่ดูเหมือนจะทะลุขึ้นมากลางพื้นห้อง

งานประติมากรรมนี้ หล่อขึ้นจากขึ้ผึ้งสีแดงอบเชย ทรงครึ่งวงกลมขนาดใหญ่ สูง 5 เมตร กว้าง 8 เมตร หนา 1 เมตร ประจันหน้ากับพระประธาน หรือพระศาสดา โดยศิลปินชาวอินเดียอายุ 67 ปีคนนี้ ต้องการถ่ายทอดเรื่องแรงโน้มถ่วง ที่ผสมผสานสวรรค์และจักรวาล กับพุทธศาสนา เนื่องจากทำจากขี้ผึ้ง ศิลปินลงทุนติดแอร์และติดกระจกใสที่หน้าต่างทุกบาน เพื่อรักษาอุณหภูมิภายในห้อง

วัดโพธิ์ เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ตามจักรวาลวิทยาศาสนาฮินดูและพุทธ ภายในศาลาการเปรียญตกแต่งด้วยสีแดงอบเชย สีขาวหินอ่อนและสีทองอร่าม พระพุทธรูปทองคำปางนั่งสมาธิบนบัลลังก์ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาหันหน้าไปทางแท่นบูชา ในศาลาการเปรียญที่ล้อมรอบด้วยกระจกและโคมไฟ

ผลงาน “Push, Pull II” ของ Anish เกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงและแรงตึงตลอดจนปริมาตรและวัสดุ ด้ามเลื่อยถูกผลักและดึงเพื่อสร้างมวลสีแดงเข้มที่ดึงดูดและดุดัน เช่นเดียวกับการทำวิปัสสนาที่กล้ามเนื้อทำหน้าที่ควบคุมการหายใจเข้าออกด้วยการผลักดึงเป็นจังหวะ การเดินจงกรมรอบผลงานจึงเป็นการกระตุ้นให้เราเคลื่อนที่อย่างมีสติ เราจะเริ่มตระหนักถึงชีวิตและเลือดเนื้อ แม่และธรรมชาติภายใต้ดวงดาวสีแดงและสีทองบนเพดานที่เปรียบเหมือนอาณาเขตสวรรค์และจักรวาล สีแดงอบเชยเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา สื่อถึงความว่างเปล่าและการมองไม่เห็น … ว้าว น่าทึ่งจริงๆ

Anish เป็นศิลปินที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของโลกคนหนึ่งในปัจจุบัน มีผลงานมากมายทั่วโลก รวมทั้ง ArceloMittal Orbit ทาวเวอร์เหล็กสูง 115 เมตร กับบันได 455 ขั้น สำหรับงาน London 2012 Olympic Park และ Ark Nova ในปี 2013 ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นสถานที่แสดงดนตรีเคลื่อนที่แบบโดมเป่าลมสามารถบรรจุคนได้ 500 คน

ออกจากศาลาการเปรียญไปยังวิหารทิศตะวันตก เพื่อไปชมงานศิลปะของ อัฐพร นิมมสัยแก้ว ที่มีชื่อว่า “Invisible World” ในรูปแบบ 3 มิติบนผืนผ้าที่แขวนซ้อนๆ กันอยู่สองข้างใกล้กับประตูทางเข้าวิหาร เป็นรูปคนกำลังนั่งสมาธิต่อหน้าพระพุทธชินศรีปางนาคปรกพระประธาน

อัฐพร นำภาพบุคคลจากภาพเขียนโบราณในวิหารของวัดโพธิ์กลับมาสร้างใหม่เป็นงานจิตรกรรมบนผ้า ภาพบุคคลที่ย้อนอดีตกับบุคคลปัจจุบันล้วนกำลังนั่งสมาธิ เพื่อแสดงความสงบนิ่งของจิตใจในโบราณสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ดึงดูดผู้ชมให้คล้อยตามไปกับความงดงามของผลงาน ความหลากหลายชาติพันธุ์ที่ปรากฏอยู่ในภาพเขียนโบราณ เป็นการสร้างความเชื่อมโยงของพลังอำนาจของวัตรปฏิบัติที่ทรงคุณค่าของพุทธศาสนิกชนให้ปรากฏขึ้นมาลางเลือนอีกครั้ง ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ของงานศิลปะที่ผสมผสานจิตวิญญาณของชาวพุทธ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *