ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง มิติใหม่ของคลองรอบกรุง

คลองโอ่งอ่าง ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 200 ปี ได้พบกับการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา จากที่เคยเป็นแหล่งค้าขายเครื่องปั้นดินเผาของชาวมอญและชาวจีน แหล่งค้ากามและโรงบ่อน มาเป็นแหล่งขายเกมที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะกลายมาเป็น “ถนนคนเดิน” สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ในปัจจุบันนี้

สะพานดำรงสถิต หรือ สะพานเหล็ก บนถนนเจริญกรุงข้ามคลองโอ่งอ่าง สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2404 ช่วงปลายรัชกาลที่ 4 จากโครงสร้างเหล็กและพื้นสะพานปูแผ่นไม้ ต่อมาสะพานคอนกรีต ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 – ภาพจากสถานีสามยอด

นอกจากนี้ คลองโอ่งอ่าง ยังได้ถูกยกย่องเปรียบกับสถานที่สำคัญๆ ของบางประเทศในโลก เช่น เวนิสตะวันออก เพราะว่า สะพานหัน หนึ่งสะพานข้ามคลองแห่งนี้ ได้ถอดแบบมาจาก สะพานริอัลโต (Rialto Bridge) เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี เป็นสะพานไม้รูปโค้งมีหลังคาคลุมและมีห้องแถวเล็กๆ ทั้งสองฟาก หรือ คลองชองกเยชอน (Cheonggyecheon) ที่มีลำธารน้ำไหลผ่านกลางกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เป็นสถานที่พักผ่อนที่ทันสมัยและแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต

สะพานหัน บนถนนจักรเพชร สร้างขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 1 เป็นสะพานไม้แผ่นเดียวตอกหัวยึดไว้เพียงด้านเดียว เพื่อหันสะพานเปิดให้เรือผ่าน ต่อมาเป็นสะพานเหล็กพื้นไม้ ในรัชกาลที่ 4 ในรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนมาเป็นสะพานไม้โค้งแบบสะพานริอัลโต เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ที่สองฝากมีห้องแถวเล็กๆ ให้เช่าขายของ – ภาพจากสถานีสามยอด

แต่ MRBADBOY ได้นึกถึง คลองโอตารุ (Otaru) ที่เกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น จริงๆ แล้ว ก็มีส่วนคล้ายๆ กันอยู่บ้าง กับบรรยากาศที่คึกคักและมีสีสันของ การแสดงดนตรี การแสดงหุ่นกระบอก มายากล คอสตูมโชว์ของเหล่าขบวนการ 5 สี เหล่าแอดเวนเจอร์ เหล่าตัวการ์ตูนดิสนีย์ต่างๆ รวมถึงร้านสตรีทฟู้ดมากมาย ทั้งไทย ญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย

การเดินทางไปคลองโอ่งอ่าง MRBADBOY ได้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ไปยังสถานีสามยอด ที่มีความสวยงามทางสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโนโปรตุกีส ในสมัยรัชกาลที่ 5 และภายในแต่ละชั้นของสถานี ยังมีการแสดงภาพถ่ายของสถานที่สำคัญๆ ในอดีตที่อยู่บริเวณรอบๆ นี้ เช่น สะพานดำรงสถิต สะพานหัน วังบูรพาภิรมณ์ ศาลาเฉลิมไทย แยกเอสเอบี วัดสุทัศนเทพวราราม เสาชิงช้า วัดมังกรกมลาวาส สวนรมณีนาถและพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ รวมถึงประวัติศาสตร์ของรถไฟไทยและรถราง และกระบวนการก่อสร้างสถานีใต้ดินแห่งนี้

เดินมาที่ Exit 1 ผ่านประตูบานเพี้ยมที่สามารถพับเปิดปิดได้ ก็จะเจอสี่แยกสามยอดที่เป็นจุดตัดของถนนเจริญกรุงและถนนมหาไชย ข้ามถนนและเดินตรงไปยังสะพานดำรงสถิต หรือสะพานเหล็ก ซึ่งในอดีต เต็มไปด้วยร้านค้ามากมายที่เสนอสินค้าหลากหลายประเภท เช่น วิดีโอเกม, โมเดลตุ๊กตา, เครื่องใช้ไฟฟ้า และ ซีดี ก่อนที่ร้านค้าต่างๆ จะถูกรื้อถอน เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ ปี พ.ศ. 2558 และได้กลายเป็น “ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง” (Ong Ang Walking Street) แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร

แต่ หยุดก่อนที่จะข้ามถนน MRBADBOY ขอแวะไปสวนรมณีนาถ หรือสวนแห่งพระนางผู้เป็นที่พึ่ง ที่อยู่ข้างๆ สถานีนี้ก่อน โดยเดินเลียบสถานีตามถนนเจริญกรุงไปยังถนนอุณากรรณ และเดินตามถนนด้านใน ศิริพงษ์ ที่ขนานกับสวนไปเรื่อยๆ แล้วเลี้ยวขวาเข้าซอยศิริพัฒน์ เพื่อไปยังประตูทางเข้าที่ถูกจัดไว้ในช่วงโควิดนี้

สวนรมณีนาถ แต่เดิมเป็นคุกกองมหัตโทษ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายของผู้คนในละแวกนี้ ในเวลาต่อมา ถึงแม้ล่วงเลยมาหลายร้อยปี ที่นี่ยังคงเหลือร่องรอยของคุกให้เห็นบ้าง เช่นพวกกำแพงและประตู และตัวอาคารที่กักขังนักโทษ เรื่องราวของคุกมีให้เห็นในพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์

ได้เวลาเดินกลับมายังสถานี MRT สามยอดอีกครั้ง เพื่อจะข้ามถนนไปยังสะพานเหล็กและหยุดถ่าย Street Art ชิ้นแรกโดย #CYOS (Create Your Original Story) บนผนังกำแพงของอาคารอีกฝั่งของสะพาน

หลังจากการปรับภูมิทัศน์แล้ว สะพานเหล็กดู Amazing มาก กลายเป็นจุดถ่ายรูปจุดหนึ่งไปแล้ว ทั้งช่วงกลางวันและช่วงเย็น สวยงามมาก มีการประดับไฟด้วย เราสามารถมองเห็นลำคลองที่ทอดยาวตรงกลางระหว่างทางเดินสองฟาก

ขออ่านประวัติก่อนนะ … คลองโอ่งอ่าง ส่วนหนึ่งของคลองรอบกรุงที่ต่อจากคลองบางลำพู ตรงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ปลายคลองไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร ได้ถูกขุดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อที่จะสร้างพระบรมมหาราชวังและขยายอาณาเขตพระนครให้กว้างออกไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2326 โปรดเกล้าให้ขุดคลองคูเมืองเดิม เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือที่ตำบลบางลำพู ผ่านวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร วัดเทพธิดารามวรวิหาร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วังบูรพาภิรมย์ ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ เหนือวัดสามปลื้มหรือวัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร เป็นระยะทาง 3.426 กิโลเมตร กว้าง 20 เมตร ลึก 2.5 เมตร และได้สร้างกำแพงประตูเมืองและป้อมปราการเลียบแนวคลองด้านในตลอดทั้งคลอง ดังนั้น พื้นที่เมืองจึงกลายเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบ คือ ด้านตะวันตกเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา และด้านตะวันออกเป็นคลองรอบกรุง

นอกจากข้อมูลบนแผ่นป้ายแล้ว สองฟากฝั่งของทางเดินเลียบคลองยังเต็มไปด้วย Street Art ที่เล่าเรื่องราวของชุมชนคลองโอ่งอ่างในอดีตและปัจจุบันนี้ ที่หลากหลายเชื้อชาติ เช่นเชื้อสายอินเดียที่ย่านพาหุรัด และเชื้อสายจีนที่ย่านสำเพ็ง

เดินลงจากสะพานมายังถนนคนเดิน จะเป็น Street Art รูปหน้าของยี่เกหลวงสันท์ (หลวงสันทนาการกิจ หรือโหมด ภูมะธน ข้าราชการในกระทรวงทหารเรือ) ย่านสะพานหัน ที่โด่งดังมากในยุคที่ลิเกทรงเครื่องกำลังเฟื่องฟู หลังจากที่เลิก มันได้ถูกรื้อเป็นโรงหนังและศูนย์การค้าสะพานหันในปัจจุบันนี้ รอบๆ ภาพนี้ คือดอกบัว ที่เชื่อว่าเป็นความนิรันดร์ไม่จบ และปลาทอง สัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งตามด้วยภาพของเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ในย่านนี้ พร้อมกับภาพของสะพานหัน อาคารและบ้านเรือนในอดีต

ภาพต่อไปหลังจากนี้ จนไปถึงสะพานภาณุพันธ์ จะเป็นวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายอินเดียและเชื้อสายจีน

ถนนคนเดินฝั่งนี้ จะมีสตรีทฟู้ดมากมายน่าทาน รวมทั้งปิ้งย่าง และพวกแผงลอยที่ขายสินค้าที่เคยขายแถวสะพานเหล็ก และบางแผงก็เป็นผู้คนที่อาศัยอยู่แถวนั้น

เดินมาถึงป้าย @ตลาดสะพานเหล็ก มีจักรยานสาธารณะให้เช่าของโครงการ “ปั่นได้” โดยผ่านแอปพลิเคชั่น Pundai และสามารถคืนได้สถานีรถไฟฟ้า MRT ใดๆ ก็ได้

เดินขึ้นสะพานภาณุพันธุ์เพื่อจะไปอีกฟากหนึ่ง พอลงมาก็จะเจอภาพเชิญชวนของเด็กกับป้ายคลองโอ่งอ่าง

ถัดมาก็เป็นอาคารเก่าแก่หลังใหญ่หลังหนึ่ง และตามด้วยวิถีชีวิตของชุมชน เช่นรถเข็ญขายกาแฟโบราณ รถถีบสามล้อ ย่านขายผ้าพาหุรัด เวิ้งนาครเขษม ที่หลายคนรู้จักกันดีเป็นแหล่งจำหน่ายเครื่องดนตรีในอดีต การตักบาตร สะพานหัน อาแปะขายยาสูบ ในตรอกยาฉุน ภาพขายโอ่งมากมาย ที่เป็นที่มาของชื่อคลองโอ่งอ่าง รวมถึงการปั้นหม้อ ภาพร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ

ถัดมาก็จะเป็น Graffiti สมัยใหม่ของเสือ สิงโต ช้าง แรดและลิง กำลังเล่นเครื่องดนตรี จบด้วยภาพกราฟฟิตี้ที่เหมือนอยู่ในเฟรมรูป ที่มีคนมาถ่ายกันเยอะ รวมทั้งกลุ่มจักรยานล้อเล็ก

เวลา 16.00 น. เป็นการเริ่มต้นของถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง ทุกวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ ทุกอย่างเริ่มคึกคักมากขึ้น มีการตั้งร้านขายของ ร้านขนม และร้านอาหารบนทางเท้า และมีแสงสีเสียงมากขึ้น ของการแสดงดนตรีหลากหลายสไตล์ ไปจนถึงเวลา 22.00 น.

MRBADBOY ได้ข้ามไปยังสะพานภาณุพันธุ์เพื่อเดินไปสู่สะพานหัน ก็จะเป็นบ้านพักอาศัยและร้านค้าบ้าง ก็มีการวางขายสินค้าต่างๆ ตามถนนคนเดิน ทั้งสองฝาก ตกเย็นจะมีบริการวาดภาพเหมือนและล้อเลียน

สะพานภาณุพันธุ์ ได้ถูกสร้างในปี พ.ศ. 2422 โดยรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานนามเพื่อเป็นเกียรติแก่สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ที่ทรงประทับอยู่ ณ วังบูรพาภิรมย์ ที่อยู่ใกล้เคียง ในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานขึ้นมาใหม่แต่ต่างกันตรงที่ลูกกรงราวสะพานเป็นรูปกรงแบบไทย และปลายสะพานทั้งสองด้านมีโคมไฟ ปัจจุบัน ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานระดับชาติ โดยอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547

มาถึงสะพานหัน ที่เชื่อมของฝั่งของตลาดสะพานหัน ตรงกลางระหว่างตลาดพาหุรัดและตลาดสำเพ็ง บนสะพานแห่งนี้ จะมีการแสดงการร้องและการเต้น รถเข็ญขายของกินและเสื้อผ้า ตรงนี้มี Street Art ที่โดดเด่นอีกภาพหนึ่งด้วย

สะพานหันก็เป็นจุดถ่ายรูปอีกจุดหนึ่ง โดยเฉพาะตอนเย็นจะสวยมากกับแสงของหลอดไฟที่กระทบกับน้ำ มีคนมาถ่ายรูปตรงจุดนี้กันมาก ทำใมถึงเรียกว่า สะพานหัน? ก็เป็นสะพานไม้แบบหันได้ที่ทำจากไม้แผ่นเดียวพาดข้ามคลอง ปลายข้างหนึ่งตรึงแน่นกับที่ ส่วนอีกข้างจะไม่ตอกติด สามารถจับหันไปมาเพื่อให้เรือแล่นผ่านได้ ต่อมาเป็นสะพานโครงเหล็กพื้นไม้กับล้อเลื่อนบนราง ในสมัยรัชกาลที่ 4 และมาเป็นสะพานที่เลียนแบบมาจากประเทศอิตาลี ในรัชกาลที่ 5

ช่วงสะพานหันไปยังสะพานบพิตรพิมุข จะมีร้านอาหารชื่อดังมากมายทั้งสองฟาก เช่น สถานีสะพานหัน เจ้บ๊วยก๋วยจั้บน้ำข้นโบราณ กุ้ยช่าย เกี่ยมโก้ย และร้านอาหารอินเดีย เช่น New Lucky Star, Little Bhutan, Mama, Tony’s Nepalese, Royal India พอตกเย็นก็จะมีสตรีทฟู้ดมากมาย เช่น บะหมี่เกี้ยวหมูแดง หมูสะเต๊ะ ทอดมัน ปลาหมึกย่าง และร้านชาไต้หวัน Ing Tea House ที่คนต่อคิวเยอะมาก

ระหว่างที่เดินไปสะพานสุดท้าย คือ สะพานโอสถานนท์ จะมีอาคารเก่าแก่หลังใหญ่หลังหนึ่งกำลังปิดปรับปรุง คือศาลรัฐธรรมนูญ แต่เดิมคือบ้านของเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ได้ถูกก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกในยุคเรอเนซองส์ของอิตาลี และต่อมาได้กลายเป็นสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ บ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2531 และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประเภท สถานที่ราชการ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2545

สุดคลองนี้ ใกล้กับเชิงสะพานพระปกเกล้า จะมีสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา จุดชมวิวแบบ 360 องศาของแม่น้ำเจ้าพระยาและจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามอีกจุดหนึ่ง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *