เทศกาลศิลปะมีชีวิต สร้างความคึกคักและสีสัน ให้กับจังหวัดภูเก็ต

การเปิดตัวทีเดียวพร้อมกัน 2 งาน ของ The Living Art และ Blue Tree Phuket ภายใต้ชื่อร่วมกันว่า “The Living Art Festival 2020 & Blue Tree Reopening” ระหว่างวันที่ 17-19 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้ทำให้จังหวัดภูเก็ตกลับมามีชีวิตชีวาและมีสีสันอีกครั้ง พร้อมกับสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นที่นี่อีกด้วย

เทศกาลศิลปะมีชีวิต ครั้งแรกนี้ ได้ถูกจัดขึ้นในโซน Blue Tree Lifestyle Village ที่ประกอบไปด้วยงานศิลปะแขนงต่างๆ จากศิลปินที่มีชื่อเสียงจากกรุงเทพ เชียงใหม่และภูเก็ต

งานแสดงภาพวาดและประติมากรรมของกลุ่ม Life Go On จากกรุ่งเทพ
พระนาย เกษมถาวรศิลป์, องค์กร ศิลปางค์กุล, สุนิสา อัศวินรุ่งโรจน์, และ กุลเชษฐ์ ขาวไชยมหา กลุ่ม HOC Gallery ได้ผลิตงานศิลปะชิ้นใหญ่ร่วมกัน ชื่อว่า “ภูเก็ตที่อุดมสมบูรณ์” (Luxuriant Phuket) เกี่ยวกับความงามใต้ท้องทะเล จังหวัดภูเก็ต ผ่านเทคนิคส่วนตัวของแต่ละคน
Street Art
Street Art
บอส-พิษณุ ปลูกสร้าง ศิลปินประจำจังหวัดภูเก็ต กับงานกราฟฟิตี้ ที่มาจากเรื่องราวตัวเอง
Street Art
หนึ่งของฝาแฝดจากจังหวัดตรัง ธมลวรรณ-ธันย์ชนก พัฒนา กำลังวาดผ้าบาติกกันสดๆ
จิตรกรอัจฉริยะ น้องอามานี่ และน้องชาย
ลิขิต ตันอุตม์ ศิลปินจากจังหวัดเชียงใหม่ กับภาพลายเส้นเกี่ยวกับวิถีชีวิตคนและสัตว์ กับธรรมชาติ
ภาพวาดและงานเซรามิกจาก Interior Designer และนักดำน้ำ การ์ตูน-พิชุภา โสภโณวงศ์

บางศิลปินได้มีผลงานแสดงอยู่ที่แกลเลอรี่ถาวร The Living Art Gallery ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนสิงหาคม ปีนี้

เวิร์คช็อปที่น่าสนใจจากศิลปินต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณนี้ เช่น การทำจิวเวลรี่จากเซรามิกโดยแก้ว-ขนงนาฏ ยิ้มศิริและไก่-บัญชา ชูดวง และ การวาด characters ของคนด้วยสีน้ำโดย ปู-กนิษฐา ประสิทธิชัย และ จุ๊-กัลย์ รามสูตร จาก Pop Art Studio

แก้ว-ขนงนาฏ ยิ้มศิริ และ ไก่-บัญชา ชูดวง กำลังสอนประดิษฐ์เครื่องประดับจากเซรามิก

นอกจากนี้ ยังมีเวิร์คช็อปนอกโครงการบลูทรีอีกด้วย เช่น การวาดภาพจากศิลปินรุ่นใหญ่ ดินหิน รักพงษอ์โศกProject Artisan Layan

ดินหิน รักพงษอ์โศก กำลังสอนวาดภาพเหมือน ณ Project Artisan Layan

การร้องประสานเสียงและการแสดงดนตรีจากเหล่านักเรียนโรงเรียนดนตรียามาฮ่า กับนักเปียโน จอม-ศาสวัส หลิมพานิชย์ กรรมการผู้จัดการของ Sound Gallery House ย่านเมืองเก่า และ ปีเตอร์ เบลค ชาวนิวซีแลนด์ รวมทั้งโซ่โล่เดี่ยวโกโตะโดยโนริโกะ ซึโบย ชาวญี่ปุ่น

การร้องประสานเสียงและการแสดงดนตรีจากเหล่านักเรียนโรงเรียนดนตรียามาฮ่า ที่ Sound Gallery House

พิธีเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้เริ่มขึ้น คุณอ้อม-สรณ์ฉัตร ไกรนรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ The Living Art Co., Ltd ที่มากด้วยประสบการณ์ในการจัดงานเฟสติวัลระดับนานาชาติและหลงใหลในงานศิลปะเป็นชีวิตจิตใจ ได้ขึ้นมากล่าวบนเวที ตรง Blue Tree Arena ว่า “วันแรกที่เราบอกว่า เราจะทำให้ภูเก็ตเป็น Creative City Hub หลายๆ คน ก็ประหลาดใจว่าจะทำได้อย่างไร เราใช้เวลาในการเตรียมงานมา 2 ปี จนมาเจอสถานการณ์โควิด แต่เราไม่ล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำให้งานนี้เกิดขึ้น เป็นสินค้าทางการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนให้กับจังหวัดภูเก็ต

พิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการของ “The Living Art Festival 2020 & Blue Tree Reopening”

นายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวเปิดงานว่า “ภูเก็ตมีที่แบบนี้ด้วยหรือ ผมตื่นเต้นมากที่ได้เดินเข้ามาและพบว่ามีที่แบบนี้ มีพร้อมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น Shopping Mall สวนน้ำ และที่สำคัญที่สุด ก็คือการจัดงานศิลปะมีชีวิต The Living Art Festival ผมเห็นงานศิลปะจำนวนมาก ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม เป็นผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับชาติโชว์อยู่ที่นี่ และการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย คือมีการจัดห้องๆ หนึ่งที่ใช้ขยะนำมาประดับตกแต่งได้อย่างน่าประทับใจ ซึ่งอดคิดไม่ได้ว่า มนุษย์ทิ้งขยะลงไปในทะเลมากมายขนาดนั้นหรือ

นายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
การจัดห้องๆ หนึ่งที่ใช้ขยะนำมาประดับตกแต่งได้อย่างน่าประทับใจ

Blue Tree ซึ่งปิดไประยะหนึ่ง วันนี้ถือว่าเปิดอย่างเป็นทางการ ผมรู้สึกว่า นี่ใช่ธุรกิจหรือเปล่า ธุรกิจแบบนี้เขาได้กำไรอะไร แต่นักธุรกิจทำก็ต้องหวังกำไร แต่ผม ในฐานะรองผู้ว่าซึ่งเป็นข้าราชการอยู่ในจังหวัดนี้ ผมเห็นเลยว่า กำไรที่เกิดขึ้น ไม่รู้ว่าทุกท่านที่ลงทุนจะได้หรือไม่ แต่คนในชุมชนได้แล้วครับ การค้าการขายที่นี่น่าจะมีการคึกคักขึ้น มีเงินหมุนเวียนมากขึ้น มีการจ้างงานมากขึ้น และก็เป็นจุดที่ดึงดูดให้คนในชุมชนเข้ามาออกกำลังกาย มาเดินชม ซึ่งเป็น Activity ที่ดีอยู่แล้วโดยไม่ต้องเสียเงิน ถ้าท่านไม่ได้เข้าไปเล่นสวนน้ำ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ภูเก็ตและชุมชนได้กำไรแน่นอน”

East Meets West เป็นการผสมผสานท่าร่ายรำของโนราห์ ศิลปะวัฒนธรรมของภาคใต้ กับโกโตะ ของญี่ปุ่น และเปียโน ของตะวันตก

หลังจากพิธีเปิด เริ่มการแสดง East Meets West ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นการผสมผสานศิลปวัฒนธรรมของตะวันตกและตะวันออก คือ เปียโนที่เป็นเครื่องดนตรีตะวันตกมาเล่นกับโกโตะ เครื่องสายจากญี่ปุ่น และการแสดงร่ายรำโนราห์ระดับปรมาจารย์ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

ผศ. ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ได้ improvise ท่าร่ายรำโนราห์ ให้สอดคล้องกับอารมณ์ที่แตกต่างของโกโตะและเปียโน

ผศ. ธรรมนิตย์ ได้พูดว่า “อันดับแรก ใช้วิธี improvise คือด้นท่า ทุกๆ ท่าที่เกิดขึ้นไม่ได้แน่นอนตายตัว ขึ้นอยู่กับวินาทีการรำท่าต่างๆ ปกติแสดงรำกับดนตรีโนราห์ แต่พอรำกับโกโตะและเปียโน ต้องฟังก่อนว่า เปียโนบรรเลงแล้ว ได้ปลุกโนราห์มีอารมณ์มีความรู้สึกอย่างไร เช่นว่า ตอนเปียโนบรรเลง เหมือนโนราห์พริ้วไหว ลอยละลิ่วลอยอยู่ตามอากาศ แต่พอโกโตะเล่น หนักแน่น กระชับ ร่าเริง เปียโนเล่นแพรวพราวเราก็ใช้โชว์ลีลาเล็บหมดเลย ถือว่าเป็นความรู้สึกที่สะท้อนออกมาให้สอดคล้อง แล้วจะรำเดี่ยวก็จะไม่สนุก น่าจะมีนายพรานซึ่งเป็นละครตัวหลักตัวหนึ่งของโนราห์ซึ่งจะขาดไม่ได้ เมื่อมีสวยงาม ก็ต้องมีตลกสนุกสนานประกอบไปด้วย”

นักแสดงพรานบุญ กำลังไล่จับหงส์ หรือโนราห์

นักแสดงพรานบุญ พูดว่า “ฟังจากดนตรีและก็อากัปกิริยาของอาจารย์ธรรมนิตย์ ว่ามีการแสดงออกมาอย่างไรบ้าง และก็เป็นการต่อสู้ระหว่างหงส์กับพรานบุญ และก็มาร่วมกับดนตรีที่ถือว่าเป็นดนตรีสมัยใหม่ที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับพื้นบ้านสักเท่าไหร่ และก็ถือว่าเวทีนี้เป็นเวทีที่เปิดโลกอีกโลกหนึ่งให้กับพื้นบ้านได้มีโอกาสได้ผสมผสานดนตรีกับต่างชาติ”

ต่อด้วยแฟชั่นโชว์ที่ตื่นตาตื่นใจ 2 ชุด จากดีไซน์เนอร์และสไตล์ลิสต์แถวหน้าของเมืองไทยอย่าง เจี๊ยบ-เอกกมล อรรถกมล และ ไก่-บัญชา ชูดวง

ชุดแฟชั่น ของเจี๊ยบ-เอกมล อรรถกมล นำผ้าปาเต๊ะให้ดูร่วมสมัย

เจี๊ยบ-เอกมล เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า EAGGAMON ได้พูดว่า “ปกติทำ resortwear อยู่แล้ว และได้คุยกับคุณอ้อมไว้สองปีแล้ว คือบินลงมาดู culture และ art ของที่นี่ และก็กลับไปทำการบ้าน เนื่องจากเปิดตัวที่ภาคใต้ อยากทำผ้าปาเต๊ะเอามาทำ modern ให้เด็กๆ ใส่ได้ทุกวัน ใครๆ ก็ใส่ได้ ให้ดูร่วมสมัย ปาเต๊ะไม่ใช่แค่เพียงผ้าถุงเท่านั้น”

ชุดแฟชั่น ของไก่-บัญชา ชูดวง โดยฝีมือการปักผ้าของนักโทษชายแดน 3

ไก่-บัญชา พูดพร้อมกับน้ำตาซึม เกี่ยวกับฝีมือการปักผ้าของนักโทษชายแดน 3 จากจังหวัดเชียงราย ว่า “ปีที่แล้วเข้าไปในเรีอนจำ ไปช่วยเขาสร้างรายได้ มันเหมือนมันโดน พอเราคุยกันแล้ว ทุกอย่างมันคลิกได้พอดี 5 เดือนเจอกันครั้งหนึ่ง แต่เราติดต่อผ่านทางผู้คุม ผมเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยอยู่ 3-4 ที่ แต่แดนสามเป็นมหาวิทยาลัยที่ถูกใจที่สุดในชีวิต ผมถ่ายรูปวัดพระแก้ว ส่งให้ผู้คุมและบอกว่าลองปักดู ปักออกมาสวยมาก มาจากจินตนาการเขา มาจากกำลังใจเขา มาจากสิ่งที่เขารู้สึกว่าสื่อสารกันได้ ผมรู้สึกอิ่มใจ เป็นแฟชั่นที่รู้สึกว่าทำเมื่อไหร่ก็มีความสุขทุกครั้ง”

ซินธ์ X Factor
เค้ก-มาเรียม-คิว B5
มาเรียม
คิว

ปิดงานแต่ละวันด้วยการแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินชั้นนำของไทยอย่าง ซินธ์ X Factor, มาเรียม-คิว-เค้ก จาก B5, และ ภูมิ-วิภูริศ ศิริทิพย์ ทั้งๆ ที่ฝนตก แต่แฟนๆ ก็ยังรอคอยศิลปินที่ชื่นชอบของเขา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *