ชม ความสวยงามและความอลังการ ของ ปราสาทหินพิมาย

ความตั้งใจแรกที่มาเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา คือชมทุ่งดอกไม้ 2 แห่ง แบบฟรีที่สวนเกษตร 100 ไร่ ศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยทางการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และแบบเสียเงินที่จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม แต่มีแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่น่าดึงดูดความสนใจมากๆ คือ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ที่ทำให้ MRBADBOY หวนนึกไปถึงความสวยงามและความอลังการของนครวัด ในประเทศกัมพูชา … เป็นความรู้สึกส่วนตัวนะครับ

MRBADBOY ได้เริ่มการเดินทางโดยรถสองแถวที่หน้า Terminal 21 ไปสถานีขนส่งผู้โดยสาร แห่งที่ 2 เพื่อจะต่อรถบัสโดยสาร ราชสีมา-พิมาย-ชุมพวง ที่ท่ารถหมายเลข 41 ในราคา 60 บาท ไม่ต่างจากรถตู้ที่อยู่ในละแวกเดียวกัน แต่ต่างเรื่องเวลาออกเพียงเล็กน้อย

ระยะทางเพียง 60 กิโลเมตรเท่านั้น รถบัสก็เลี้ยวซ้ายสี่แยกหอนาฬิกาและจอดให้ลงหน้าลานพรหมทัต ตอนแรกก็รู้สึกแปลกใจว่า ทำใมคนขับจอดรถบ่อยจัง และขึ้นมาเก็บเงินจากผู้โดยสารที่ขึ้นระหว่างทาง MRBADBOY ได้รับคำตอบจากคนที่นั่นว่า เนื่องจากสถานการณ์โควิด ทำให้ใม่มีนักท่องเที่ยว เป็นเหตุสังเกตได้ บริษัทเดินรถลดค่าใช้จ่ายด้วย … แต่ก็ไม่ได้ทำให้เสียเวลานะ

หาอะไรรองท้องก่อน พอดี MRBADBOY เหลือบไปเห็นร้านก๋วยเตี๋ยวเป่าปาก ชื่อแปลกดี ชวนให้ลองไปชิมว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง และได้สั่ง ก๋วยเตี๋ยวเป่าปากหมูหมักน้ำผึ้ง รสชาติโดยรวมใช้ได้ หมูหมักน้ำผึ้งหวานนุ่มดี ด้วยความสงสัย จึงถามเจ้าของร้านว่า ทำใมต้องเป่าปาก คำตอบคือมันเผ็ด อ่อ แต่พอได้ลองชิมกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ก็เลยขอเติมเครื่องที่ทำให้เป่าปากอีก สองช้อนโต๊ะ ก็ยังไม่เผ็ด เพราะว่าเครื่องคล้ายน้ำพริกเผาออกหวานๆ มากกว่าเผ็ด เขาบอกว่าที่นี่เป็นเพียงแฟรนไชส์เท่านั้น

หลังจากนั้น เราก็เดินไปทางสี่แยกและเลี้ยวซ้าย แล้วข้ามถนนไปฝั่งตรงข้าม ก็จะพบทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย (Phimai Historical Park) และจ่ายค่าเข้าไป 20 บาท

ปราสาทหินพิมายนี้ ถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นปราสาทหินทรงขอมโบราณแบบบาปวน สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ราวพุทธศตวรรษที่ 16 ตามความเชื่อเกี่ยวกับสวรรค์และโลกมนุษย์ และมีองค์ปราสาทประธาน เป็นเสมือนทางเชื่อมระหว่างโลกกับสวรรค์

ผ่านประตูมาแล้ว เลี้ยวขวาไปห้องน้ำและข้อมูลนักท่องเที่ยว และ เลี้ยวซ้ายเป็นจุดเริ่มต้นของการทัวร์ปราสาทแห่งนี้

จุดแรกคือ “พลับพลาเปลื้องเครื่อง” หรือ “คลังเงิน” อยู่ซ้ายมือของทางเดินเข้าสู่ตัวปราสาท สันนิษฐานว่าเป็นที่พักเตรียมพระองค์สำหรับกษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูงที่เสด็จมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือจัดขบวนสิ่งของถวายต่าง ๆ หลังจากได้พบโบราณวัตถุจำนวนมาก มีทั้งรูปเคารพ เครื่องประดับ และเหรียญสำริด

ใช้เวลาสักพักในการเก็บภาพ ก่อนที่มีความรู้สึกตื่นเต้นมากขึ้น ที่จะได้เดินเข้าไปเห็นความสวยงามและความอลังการของตัวปราสาทหินพิมาย MRBADBOY ได้เดินบน “สะพานนาคราช” ที่เชื่อว่าเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์

สะพานนี้ สร้างด้วยหินทราย ยกพื้นสูง ราวสะพานทั้งสองด้านทำเป็นตัวนาคราชและตรงปลายเป็นรูปนาค 7 เศียร

สุดสะพานเป็น “ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว” “ซุ้มประตู” หรือ “โคปุระ” ตั้งอยู่กึ่งกลางของแนวกำแพงแก้ว แนวตรงกันหมดทั้ง 4 ด้าน คือ ทิศเหนือ-ใต้ และ ตะวันออก-ตะวันตก

MRBADBOY เก็บภาพไว้เยอะทีเดียว มันช่างสวยงามจริงๆ เมื่อสีเอิร์ธโทนของกำแพงตัดกับสีฟ้าของท้องฟ้า รวมถึงภาพที่ถ่ายผ่านลูกกรงหินทรายสลักของหน้าต่าง หรือลูกมะหวด

เมื่อไหร่ที่ออกจาก “กำแพงแก้ว” แล้ว มันเหมือนกับว่า เรา จากความเชื่อ กำลังก้าวไปสู่ดินแดนสวรรค์ ที่อยู่ของเทพเจ้า

ก่อนที่จะไปสู่ปราสาทประธาน เราต้องเดินบน ชาลาทาง ที่ทำจากหินทรายกับ 3 หลุม อย่างละข้าง เป็นรูปกากบาท ทางเดินนี้เชื่อมไปยังระเบียงคด ที่ล้อมรอบปราสาทประธาน

ระเบียงคด มีลักษณะคล้ายกำแพงแก้วทั้ง 4 ด้าน โดยมีตำแหน่งที่ตั้งตรงกับแนวของประตูเมือง และประตูทางเข้าปราสาทประธาน กรอบของซุ้มประตูด้านทิศใต้ มีจารึกอักษรขอมโบราณ ที่กล่าวถึงการสร้างรูปเคารพ เมือง และพระนามมหากษัตริย์ พระเจ้าธรณินทรวรมันที่1

ในนี้ มีหลุมบรรจุวัตถุมงคล คือแผ่นทอง 8 แผ่นที่ตอกลวดลายของดอกบัว 8 กลีบ หมายถึง มงคล 8 ประการ กับเม็ดพลอยสีขาวและสีแดง เป็นประเพณีการสร้างปราสาท เหมือนที่อื่นๆ เช่น ปราสาทตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ หรือปราสาทพนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์

ตรงจุดนี้แหละ ที่ทำให้ MRBADBOY ย้อนกลับไปที่นครวัด เลยทีเดียว ระเบียงคดได้ล้อมรอบ ปราสาทประธาน หอพราหมณ์ ปรางค์หินแดง ปรางค์พรหมทัต โดยแต่ละทิศมีซุ้มประตูอยู่ ๔ ทิศ เหมือนกับกำแพงแก้ว

เมื่อเราผ่านซุ้มประตูเข้ามาด้านใน จะเห็นปราสาทประธานตั้งตระหง่านอย่างโดดเด่นและสวยงาม ซ้ายมือคือปรางค์หินแดงและหอพราหมณ์ ขณะที่ขวามือจะเป็นปรางค์พรหมทัต

ปราสาทประธาน ประกอบด้วย มณฑป และ เรือนธาตุ มีการจำหลักลวดลายประดับตามส่วนต่าง ๆ เช่น หน้าบัน ทับหลัง มักจำหลักเป็นภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์และเรื่องราวทางพุทธศาสนา ยกเว้นทางด้านทิศใต้ จำหลักเป็นภาพศิวนาฏราช

ภายในเรือนธาตุเป็นส่วนสำคัญที่สุดเรียกว่า ห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพสำคัญ

ปรางค์หินแดง มีทับหลังหินทรายจำหลักภาพเล่าเรื่องมหากาพย์มหาภารตะ ตอนอรชุนล่าหมูป่า และ หอพราหมณ์ ได้ค้นพบศิวลึงค์ สลักด้วยหินทรายจำนวน 7 ชิ้น

ปรางค์พรหมทัต พบประติมากรรม 2 ชิ้น คือ ประติมากรรมรูปบุคคลขนาดใหญ่อยู่ในท่านั่งขัดสมาธิ สลักด้วยหินทราย สันนิษฐานว่าเป็นรูปจำลองของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ชาวบ้านเรียกว่า ท้าวพรหมทัต ส่วนอีกรูปเป็นสตรีนั่งคุกเข่า สลักด้วยหินทราย ส่วนศีรษะและแขนหักหายไป เชื่อกันว่าเป็นรูปของพระนางชัยราขเทวีมเหสี ชาวบ้านเรียกตามนิยายพื้นบ้านว่า นางอรพิม ปัจจุบันประติมากรรมของเดิมทั้งสองชิ้นได้ถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

บรรณาลัย ตั้งอยู่บริเวณลานชั้นนอก ระหว่างกำแพงแก้วและซุ้มประตูระเบียงคด ด้านทิศตะวันตกเป็นอาคาร 2 หลังขนาดเดียวกัน ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูง ก่อด้วยหินทรายกั้นเป็นห้องยาวตลอดแนว พบร่องรอยหลุมเสารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เดิมคงเป็นหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เชื่อกันว่าบรรณาลัยคือสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา 30110

เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 7.00 – 18.00 น.

TEL: 044-471 568

http://www.finearts.go.th/phimaihistoricalpark

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *