พิษณุโลก เมืองรองที่น่าสัมผัส

การไปเที่ยวเมืองรอง บางครั้ง MRBADBOY เคยถามตัวเองว่า ทำใมจังหวัดนี้จังหวัดนั้นถึงต้องเป็นเมืองรอง ทั้งๆที่บางจังหวัดก็มีความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย อย่างล่าสุดที่ไปมาก็คือ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีพระพุทธชินราช ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดองค์หนึ่ง และคนไทยนิยมเดินทางมากราบไหว้มากที่สุดองค์หนึ่งด้วย มีแหล่งท่องเที่ยงทางธรรมชาติเช่นการล่องแก่งลำน้ำเข็กที่ขึ้นชื่อของที่นี่ และมีแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน รวมถึงมีสนามบินของตัวเองด้วย

จุดแรกที่เราได้แวะ คือ แคมป์หมาบ้าใจดี (Camp Maba Jaidee) อำเภอเนินมะปราง ที่ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนักใช้เวลา 1.30 ชั่วโมง ระยะทาง 80 กิโลเมตร เป็นชุมชนท่องเที่ยวแห่งใหม่สำหรับคนรักงานศิลป์และธรรมชาติไปพร้อมๆกัน ได้เริ่มต้นโดย นายวิโรจน์  หอมสะอาด หรือที่รู้จักกันในชื่อ “จุ้ย” ที่ร่วมลงทุนกับผู้ใหญ่บ้าน บ้านมุง โดยธวัชชัย พุทธชาวนา หลานของพี่จุ๊ย ได้เล่าให้ฟังว่า “ชื่อมาตั้งแต่ที่พี่จุ๊ยทำ paper mache และไปประมูลให้กับป้าเจี่ยมประมูลขายให้น้องหมา 2-300 ตัว ที่เขาเก็บมาเลี้ยง น้องแมว และเด็กบนดอย เขาเอาชื่อจากในเพจนั้นมาเป็นชื่อแคมป์ เพื่อที่ขยายวงกว้างให้คนรู้จัก และชื่อมันก็แปลกในตัวของมันเอง”

“ตรงนี้จะเป็นบ้านมุงที่ชาวบ้านเรียกกันคือ เขาพระรถ ยอดแหลมๆบนเขาจะมีถ้ำพระรถ(เมรี)อยู่ข้างใน และในวัดก็จะมีถ้ำนางสิบสองที่เชื่อมโยงกัน เมื่อก่อนพื้นที่ตรงนี้จะเป็นป่าข้าวโพด และช่วงสองปีหลังนักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามา เหมือนกับว่าไม่มีที่เที่ยว ที่อยู่ ที่กิน ส่วนใหญ่เขาจะขึ้นข้างบนที่บ้านรักไทยหมด เราก็มองเห็นว่าน่าจะมีสักที่หนึ่งที่รองรับนักท่องเที่ยวได้ เราจะเชื่อมโยงกัน ตรงนี้จะเป็นที่ของผู้ใหญ่บ้านแล้วมาร่วมทำกับพี่จุ๊ย กระท่อมเราสร้างขึ้นมา ตรงนั้นจะเป็นป่าอ้อย ที่นี้เน้นกางเต้นมากกว่าเป็นบ้านหลัง อยากให้นักท่องเที่ยวอยู่กับธรรมชาติ เรามีเต้นให้เช่า 400 บาทกับเครื่องนอน 2 ชุด ถ้าเอาเต้นมาเองและกางบนกระท่อม หัวละ 150 บาท และ 100 บาทตรงพื้นสนามหญ้า ข้างบนกระท่อมจะได้วิวกว่าและได้ใช้ไฟฟ้าด้วย เมื่อมีที่พักแล้ว เราก็คิดต่อว่านักท่องเที่ยวมาอยู่กับเราก็ต้องมีกิจกรรมทำ ก็มีงาน paper mache ผ้ามัดย้อม การระบายสีโดยเราจะมีแบบร่างสเกตซ์ไว้ให้ งาน paper mache ส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานหรือผู้ใหญ่ เราก็จะถ่ายทอดให้ แค่เป็น guide ว่างานลักษณะแบบนี้ทำจากขยะทำได้นะ แล้วเขาก็ไปคิดดัดแปลงเอาเอง ที่ผ่านมาผลตอบรับโอเครนะ มีคนสนใจงานผ้ามัดย้อมเยอะ มาเป็นครอบครัวก็อยากจะให้ลูกมีกิจกรรมทำ นอกจากเที่ยว เหมือนเราตอบโจทย์ ได้เที่ยว ได้พักผ่อน ได้ทำกิจกรรม ตอนนี้คนในหมู่บ้านมง ทำไร่อ้อย ข้าวโพดและปลูกข้าว แต่หลักๆจะเป็นมะม่วง เราเป็นเหมือนเพิ่งเปิดหมู่บ้านด้วย เมื่อก่อนเราก็อยู่กันแบบเงียบๆ ไม่ค่อยมีใครรู้จัก เราก็ทำไร่ ทำนา ทำสวนตามปรกติ

“แต่ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มเห็นแล้วว่า มันมีช่องทางที่จะหารายได้จากตรงนี้ ตอนนี้ชุมชนมีรถนำเที่ยวของชุมชน 2 คันเป็นรถอีแต๊ก ก็จะพาเที่ยวชมวิวรอบหมู่บ้านมุง ข้างในประมาณ 2-3 กมจะมีเทือกเขาสลับไปเรื่อยๆแล้วจะมีถ้ำ มีวัด ตกเย็นก็ดูค้างคาวบินออกเป็นไฮไลท์ สวยสุดในเดือนพฤษจิกายน ธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม ออกทุกวัน รถนำเที่ยวแบบเหมาราคาต่อเที่ยว 800 บาท ตอนนี้ดูเหมือนว่า หมู่บ้านมี package ราคา 399 บาทพาเที่ยว พากิน พานอน เป็น package โปรโมทในช่วงแรกๆ”

                ที่นี่ MRBADBOY ก็ได้มีโอกาสหัดทำผ้ามัดย้อมแบบลายดาว โดยทางคุณธวัชชัยได้สอนและให้รายละเอียดในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การเตรียมอุปกรณ์ ผ้าฝ้าย สีย้อมผ้า หนึ่งซองต่อน้ำหนึ่งลิตร ผสมกับเกลือเพื่อให้สีติดทนนาน และก็มีไม้ไอศรีมเก่านำมารีไซเคิล และยางวง ทำให้เกิดลาย เริ่มจากการพับผ้าสี่เหลี่ยมจุตรัสครึ่งหนึ่งให้เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า แล้วพับผ้าอีกครึ่งหนึ่งให้เป็นสามเหลี่ยม เราใช้นิ้วกดมุมแหลมไว้ แล้วพับผ้าอีกครึ่งหนึ่งเหมือนพับจรวดตอนเด็กๆ ถ้าเราวางไม้ไอศรีมขนานลายก็จะเป็นวงกลม แต่ถ้าเราเฉียงมันจะเกิดเป็นดาวทันที ดาวจะแหลมจะทู่ อยู่ที่เราวางไม้ และขึ้นอยู่กับจินตนาการของเรา หลังจากนั้นนำไปล้างน้ำเพื่อเอาแป้งออกจากผ้า ก่อนจะจุ่มลงไปในหม้อต้มสี สักพักก็ล้างน้ำแล้วเอาไปตากไว้

จากแคมป์หมาบ้าใจดีไปไม่ไกลนัก ก็มาถึงหมู่บ้านคลองซับรัง เพื่อมาเรียนรู้การทำซาลาเปาไส้มะม่วงกวนโดยกลุ่มแม่บ้านแปรรูปมะม่วงบ้านคลองซับรัง แม่บ้านคนหนึ่งได้เล่าถึงความเป็นมาว่า “เริ่มต้นที่เราไม่ได้เป็นอะไร และมาจับกลุ่มกัน และก็มีหน่วยงาน กรมพัฒนาชุมชนมาส่งเสริม ส่งอาจารณ์มาสอน เราก็พัฒนาของเราไปเรื่อย ที่เป็นไส้มะม่วง เพราะว่า พื้นที่ของเรามะม่วงส่งออก พื้นที่เกือบ 100% จะปลูกมะม่วงและข้าว ส่วนใหญ่เราจะขายตามล้ง และล้งก็คัดไปต่างประเทศ ส่วนมะม่วงที่เหลือและไม่ได้ไปตามคุณภาพ เราก็คิดแปรรูปขึ้นมา กลุ่มแม่บ้านใช้เวลาให้เกิดประโยชน์เพิ่มรายได้ เราเคยแปรรูปเป็นแยมแต่ไม่ประสบความสำเร็จในด้านการตลาด ที่สำเร็จเห็นผลคือ ซาลาเปาไส้มะม่วง กับน้ำมะม่วงเข้มข้นพร้อมดื่ม สีเขียวก็คือมะม่วงดิบจะมีรสชาติเปรี้ยวนำ มะม่วงเพชรบ้านลาดอร่อยที่สุด ปรกติซาลาเปาเราจะทำเป็น 3 สีของใบเตย มะม่วง และอัญชัน” MRBADBOY ได้ลองชิมดูและรู้สึกว่าไส้มะม่วงมันมีรสเปรี้ยว มันน่าจะเหมาะกับพวกขนมปังกรอบแบบที่เรียกว่า แครกเกอร์มากกว่าแป้งซาลาเปา MRBADBOY ได้แนะนำไปว่า น่าจะทำออกหวานๆสีเหลืองแบบครีมน่าจะเข้ากันมากกว่า หรือเป็นซาลาเปาไส้ลาวาก็ได้

                เราเดินทางต่อไปยังหมู่บ้านรักไทย เพื่อจะไปกินอาหารกลางวันที่นั่น เป็นก๋วยเตี๋ยวกระเพาะหมู ลุงจิตร ที่เขาบอกว่าเป็นอาหารขึ้นชื่อของที่นี่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะชอบพวกเครื่องในหรือไม่ เนื้อหมูก็มีนะ แล้วเราพักท้องเบาๆมาดู “ต้นไม้รูปหัวใจ” ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยม นอกจากจะมีธรรมชาติที่สวยงามแล้ว ยังมีสลิงต้นไม้ให้นักท่องเที่ยวห้อยโหนไปตามสายเคเบิ้ลสัมผัสความตื่นเต้น และนั่งชิงช้าแกว่งไปมาพร้อมกับชมวิวธรรมชาติที่กำลังเขียวขจีในช่วงกรีนซีซั่นแบบ 360 องศากันเลยทีเดียว

                หลังจากนั้นเราก็มาแวะที่ ศูนย์การเรียนรู้ช้างทรัพย์ไพรวัลย์ (Sappraiwan Elephant Sanctuary) ซึ่งช่วยเหลือช้างเร่ร่อนคืนสู่วิถีธรรมชาติในพื้นที่ป่าเกือบพันไร่ของทรัพย์ไพรวัลย์รีสอร์ท มีกิจกรรมช้างเชิงบวกที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตช้างให้มีอิสระใกล้เคียงในธรรมชาติ พร้อมทั้งสอดแทรกความรู้ และแนวคิดการอนุรักษ์ เช่น “Elephant Walk ตามดูโขลงช้างในป่า”, “Enrichment ทำของกินให้ช้าง”, “ทำแซนวิชสุขภาพเลี้ยงช้าง”, “Vitamin Ball ทำลูกบอลอาหารเสริมเลี้ยงช้าง”, “Target Training ฝึกช้าง”, “สปาช้าง”, และ “ฝึกเป็นควาญช้าง” แล้วได้มาลองทานอาหารเล่นๆที่ Elephant House Lake View Cafe เช่น แซนวิสแฮมชีส พิซซ่ามาการิต้า พิซซ่าทะเล สปาเก็ตตี้ผัดกระเทียมพริกแห้ง และน้ำชามะนาว รสชาติใช้ได้ดีทีเดียว

                ในวันรุ่งขึ้นเราได้เข้าร่วมทำกิจกรรม Raft & Run “วิ่ง-ลุย-ล่อง ท่องน้ำเข็ก” ที่ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ วนธารารีสอร์ท อำเภอวังทอง เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2562 และเป็นครั้งแรกที่ MRBADBOY ได้ทั้งวิ่งและล่องแก่งไปพร้อมๆกัน MRBADBOY ได้ลงระยะทางวิ่ง 10 กิโลเมตร เราใช้เวลาในการล่องแก่งประมาณ 2 ชั่วโมงกับระยะทางประมาณ 8 กม. ผ่าน 13 แก่งที่มีระดับความยากง่ายแตกต่างกันไป แต่ก็มีจุดไฮไลท์ 4-5 จุดที่ทำให้เราตื่นเต้น ระทึกใจและได้เสียวด้วย มีทั้งแก่งต่างระดับที่หักลงมาที่คิดว่าแพต้องล่มแน่ แก่งคดเคี้ยวหักเลี้ยวเป็นตัว S แก่งไล่ระดับเป็นชั้น ๆ เหมือนบันได เนื่องจากช่วงนี้น้ำน้อยผิดปรกติ เลยทำให้เราเหนื่อยหน่อยกับการใช้เวลานานในการพายในช่วงน้ำนิ่ง แต่ก็สนุกสนานกันดี

                หลังจากอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าพร้อมที่จะลุยเที่ยวกันต่อ คุณณัฐวัฒน์ วัฒนาประสิทธิ์ เจ้าของเรนฟอเรสท์ รีสอร์ท และประธานชมรมรักษ์ลำนำเข็ก ได้นำเราไปดูพื้นที่ 7 ไร่ของเขาที่ตามรอยศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 “เรามองว่าศาสตร์พระราชา น่าจะมีอะไรซ่อนอยู่ในนั้นของเศรษฐกิจพอเพียงและต้องเป็นเรื่องของที่เราทำได้ ไม่ใช่ว่าแค่เกษตรอย่างเดียว ก็เลยไปเรียนกับอาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ให้คนทุกกลุ่มทุกอาชีพหันมาพึ่งตนเอง ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) เมื่อ 10 ปีที่แล้ว และก็ไปศึกษาดูงานทั่วประเทศเลย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและภาคเอกชน เราก็คิดว่า พื้นที่ตรงนี้มันน่าจะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำให้เรา ผมใช้เวลาหนึ่งปี ในการสำรวจและก็ตอบโจทย์ตัวเองว่า 4-5 ข้อที่ว่า เรื่องการจัดการขยะ เรื่องอาหารปลอดภัย เรื่องพอเพียง และเรื่ององค์ความรู้ต่างๆ เราควรจะ zoning อย่างไร

                “เวลาเราจะเริ่มอะไร เราก็ต้องมาดูว่า ทำใมเราต้องเอาผักมาอยู่ตรงนี้ ทำใมบ้านต้องอยู่ตรงนี้ ก็เนื่องจากว่าภูมิศาสตร์ของตรงนี้เป็นก้อนหินหมดเลย เราก็ต้องจัดการพื้นที่ของเราตามภูมิศาสตร์ที่มันเหมาะสม ด้านหลังจะเป็นที่เก็บน้ำ ดังนั้นพื้นที่จะลาดเอียงแบบนี้ ตอนนี้เราก็มีวิธีการที่จะบล็อคดินให้เป็นขั้นๆด้วยวิธีการต่างๆ จากการปลูกผักแล้ว เราก็จะมีเรื่องของเพาะเห็ด เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เปลี่ยนไปเรื่อยๆ มีฟาร์มสเตย์ 4 ห้อง เรามีกิจกรรมที่จะให้เหมาะสมกับคณะนั้นๆ ถัดขึ้นมาก็จะมีเป็ด ไก่ และหมูป่า หมูป่าเอาไว้กำจัดเศษอาหาร เป็นการประหยัดอาหารส่วนหนึ่ง ตอนนี้ก็ออกลูกออกหลาน เราก็ขายลูกต่อได้ เรามีอาคารไว้สำหรับการกำจัดขยะ ตั้งแต่การคัดแยกขยะ มีการเลี้ยงไส้เดือนไว้กำจัดเศษผลไม้ เศษผักต่างๆ เพื่อเอามูลมันมาใช้ได้ ดังนั้นการที่เราเป็นอินทรีย์ เราต้องอาศัยมูลสัตว์ทั้งหมด มาหมักและก็มาทำให้เป็นระบบหมุนเวียน แทนที่จะเอาเงินไปซื้อมา ถัดมาเป็นเรื่องของอาคารเกี่ยวกับพลังงานทั้งหมด มีโรงเก็บไม้เก่าๆทำ biodiesel การเผาถ่าน จะมีเตาพลังงานแสงอาทิตย์ สุดท้ายเป็นอาคารเอนกประสงค์ ทำไว้เก็บพวก EM เวลาทำปุ๋ยเราก็ใช้อาคารนี้ โซนนี้เป็นป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างที่ในหลวงเคยสอนว่า ป่าไม่จำเป็นจะต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยว อากาศก็ร้อน เวลามีอุทกภัยมา รากพืชมันก็หลุด แต่ถ้าเราปลูกลำไย เงาะ ตะไคร้ ไม้สัก ไม้ประดู่ ป่า 3 อย่างคือไว้กิน ไว้อยู่ ไว้ใช้ ประโยชน์อย่างที่ 4 คือระบบนิเวศน์ที่จะกลับคืนมา ตอนนี้เราใช้ระบบน้ำบาดาล แล้วเราทำเข้าปีที่ 3 เราได้ certified “Organic Thailand”

“เราพยายามที่จะทำให้เป็นต้นแบบว่า มันก็ไม่ได้ยากเกินความจริง และเราก็ตั้งกลุ่มขึ้นมาแล้วชื่อ สองแควออร์แกนิค โดยผมเป็นประธาน และก็เอาคนที่คิดเหมือนกันที่เริ่มจากกินเองก่อน แล้วเอาไปใช้ในรีสอร์ท แบ่งขายบ้าง แจกบ้าง ไข่เยอะกินก็ไปแจกจ่ายตามโรงเรียนบ้าง มันก็จะเป็นระบบที่ทำให้เราอยู่กับชุมชนและเกิดความสามัคคีกัน อย่างล่าสุดผมมีขยะเยอะมากที่มาจากพายุ โรงเรียนทรัพย์ไพรวัลย์วิทยาคม เห็นเราโพส เขาก็ส่งเด็กนักเรียนมาช่วยเรา บางทีทหารก็มาช่วยเรา มันก็เลยมีความรู้สึกว่า การที่เราอยู่ในชุมชนแล้วเรารู้สึก เราช่วยเขาและเราแบ่งปันเขามาตลอด มันทำให้เราไม่โดดเดี่ยว เวลาเรามีปัญหาเราก็จะได้รับน้ำใจจากชุมชน” คุณณัฐวัฒน์พูดจบพร้อมกับรอยยิ้มของความภาคภูมิใจ

                เราได้เข้ามาที่ตัวเมืองและซอกแซกไปตามซอยหมู่บ้าน เพื่อจะมาเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์บัญชา ของคุณบัญชา วาจาสุวรรณ ผู้ซึ่งชื่นชอบพระเอก มิตร ชัยบัญชา มาก จึงได้สะสมของเก่าหลากหลายชนิดที่เกี่ยวกับภาพยนตร์และของสะสมอื่น ๆ มากมาย และได้นำมาจัดแสดงไว้ในบ้านของตนเอง และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์บัญชาให้ผู้สนใจได้มาศึกษา ภายในจัดแสดง ประวัติ ภาพถ่าย โปสเตอร์ภาพยนตร์ ปฏิทิน หนังสือพิมพ์ สมุด กล้องถ่ายรูป แผ่นเสียง ม้วนฟิล์มและเครื่องฉายภาพยนตร์ในสมัยเก่า เป็นต้น นอกจากนี้ในส่วนของโรงรถยังจัดแสดงเป็นบรรยากาศของร้านค้า ร้านกาแฟโบราณ ร้านตัดผม และโรงลิเก รวมถึงรถประจำทางที่เคยวิ่งให้บริการในพิษณุโลก นอกจากนี้ยังมีห้องเก็บสะสมภาพบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกด้วย

เราแวะกินก๋วยเตี๋ยวห้อยขา ร้านริมน่าน ก่อนจะไปสักการะพระพุทธชินราช พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวสองแคว ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร แล้วบึ่งรถไปที่สนามบินพิษณุโลก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *