โรงงานมักกะสัน 112 ปี – vs – เทศกาลขนหัวลุก

โรงงานมักกะสัน การรถไฟแห่งประเทศไทย ในอดีตเคยเป็นโรงงานซ่อมรถไฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ก่อสร้างเมื่อปี 2450 แล้วเสร็จเปิดกิจการในปี 2453 ปัจจุบันนี้ครบรอบ 112 ปี

นายก่อพงศ์ สุทธิกรณ์ หัวหน้าสำนักงานจัดหาพัสดุซ่อมบำรุง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เล่าให้ฟังว่า “ในอดีต ที่นี่เคยมีโรงผลิตไฟฟ้าเองจ่ายไฟให้โรงไฟฟ้า ชุมชนและโรงพยาบาลรถไฟ ปัจจุบันนี้เราใช้ไฟของการไฟฟ้านครหลวง รถไฟที่พวกท่านเห็นวิ่งไปวิ่งมาบางส่วนโรงงานมักกะสันสร้างเอง ไม่ว่าจะเป็นรถสินค้า 4 ล้อ 8 ล้อ และผู้โดยสาร จนถึงรถโดยสารปรับอากาศ ระยะหลังเราเคยคิดจะสร้างรถดีเซลรางแต่ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและอื่นๆ อีกหลายอย่างทำให้เราหยุดภาระกิจสร้างรถ ปัจจุบันเราสั่งซื้อแทน

โรงงานมักกะสัน มีอาคาร 2465 อาคารเก่าแก่ที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น เป็นอาคารดั้งเดิมที่เราใช้ในการซ่อมรถ ภายหลังมาใช้เป็นอาคารสำหรับในงานเก็บพัสดุ คุณค่าต่างๆ มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมหรือเครื่องจักรเก่าๆ ที่เราเคยสั่งซื้อไม่ว่าจากญี่ปุ่นหรือยุโรป เครื่องจักรเครื่องกลต่างๆ ของการรถไฟถือว่าดีที่สุดและแพงที่สุดในอดีต หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้กลิ่นอายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงเก็บรถพระที่นั่ง จะมีเจ้าหน้าที่การรถไฟมาบรรยายความเป็นมาของรถจักรต่างๆ ให้ท่านที่มาเที่ยวงาน การรถไฟจะมีรถนำเที่ยวประจำอยู่แล้ว แต่จะนำมาเสนอในงานนี้ไม่ว่าจะเป็นหัวรถนำเที่ยว หรือเช่ารถเฉพาะกิจ”

ปัจจุบันนี้ โรงงานมักกะสัน ได้เปิดให้ประชาขนทั่วไปเข้ามาเยี่ยมชมและถ่ายรูปได้ 3 จุด คือ

อาคาร “รฟผ. 2465”

ได้รับรางวัล “อนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคารสาธารณะ” จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี 2549 โรงซ่อมรถโดยสารนี้ สร้างขึ้นในปี 2465 เป็นอาคารชั้นเดียวสไตล์เยอรมัน เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มีความกว้าง 32 เมตร ยาว 125 เมตร และสูง 20 เมตร ปัจจุบันใช้เป็นอาคารคลังพัสดุ และส่วนต่อเติมด้านข้างเป็นโรงเก็บรถพระที่นั่งสำหรับรัชกาลที่ 9 และ รัชกาลที่ 10 จุดถ่ายรูปที่สวยงาม อยู่ตรงบริเวณสวนหย่อมด้านหน้าอาคาร

คุณก่อพงศ์ บอกว่า “ลักษณะของเยอรมันมีจั่วซ้อนและโค้งแบบนี้ ที่ตามเมืองที่ไม่ใช่เมืองหลวงของเยอรมัน โรงรถไฟจะคล้ายๆ แบบนี้ 100 ปีพอดี เราทำเป็นที่เก็บพัสดุ กำลังหางบมาทำหลังคาและช่องแสงใหม่ ในโอกาสต่อไป ต้องย้ายพัสดุออกและทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ทางสำนักนายกเคยให้ทุนมา 200 ล้านแต่พอเกิดโควิด ดึงทุนกลับ เราก็เลยชะงักไป จะทำเป็นมิวเซียม องค์ความรู้และการเรียนรู้การรถไฟสมัยเก่าและสมัยใหม่”

โรงเก็บรถไฟประวัติศาสตร์


จะมีรถจักรที่ใหญ่ที่สุดและรถไฟสมัยรัชกาลที่ 5 และตู้ลิ้นชักต่างๆ เครื่องชั่ง รวมถึงขอนรางรถไฟต่างๆ เริ่มจาก 50 ปอนด์ต่อหรา ความแตกต่างของขอนไม้และขอนคอนกรีต คือ ขอนไม้หายากและผุง่าย แต่นุ่มนวลกว่า และสามารถนำกลับมาใช้ได้ ขณะที่ขอนคอนกรีตจะแตกหักในกรณีรถไฟตกราง

วิหารหลวงพ่อนาคปรก

ที่เจ้าหน้าที่ในโรงงานมักกะสันให้ความเคารพศรัทธา เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและให้พรสมตามความปรารถนา

ด้วยกลิ่นอายของความเก่าแก่ของโรงงานมักกะสันที่มาพร้อมกับสิ่งลี้ลับ ทำให้กลายเป็นโลเคชั่นสำหรับการจัดงาน “เทศกาลขนหัวลุก” (Thailand Goosebump Festival) ระหว่างวันที่ 27-29 พฤษภาคม 2565 เวลา 15.00-22.00 น.

นายก่อพงศ์ เล่าว่า “ที่นี่มีจริงนะครับ ทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิและวิญญาณ เพราะรถอุบัติเหตุต่างๆ ที่มีผู้เสียชีวิตก็จะมาซ่อมในโรงงานนี้ จอดอยู่ในป่าหญ้าลึกๆ มีรปภ เคยรู้สึกได้”

นายก่อพงศ์ สุทธิกรณ์ หัวหน้าสำนักงานจัดหาพัสดุซ่อมบำรุง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ร่วมแถลงข่าว “เทศกาลขนหัวลุก” (Thailand Goosebump Festival) ณ โรงเรียนช่างฝีมือพระดาบส การรถไฟแห่งประเทศไทย

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กล่าวเสริมว่า “ที่นี่มีต้นตะเคียนทอง 2 ต้นด้วย อยู่ข้างหลังฉากเวที ตอนที่พิธีกรพูดเปิดงานมีใบไม้ร่วงลงมา พอเริ่มงานไม่มี คุณก่อพงศ์บอกว่า เจ้าแม่ตะเคียนทองโปรยใบไม้มาให้เราเพื่อเป็นการเปิดงาน”

“เทศกาลขนหัวลุก” ประกอบไปด้วย 9 สาย

“สายบูชา” นิทรรศการพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของไทย 5 ภูมิภาค และกิจกรรมการประมูลพระนาคปรกจำลองของการรถไฟ มีการออกร้านให้เช่าบูชาพระเครื่องและเครื่องรางของขลังจากภาคต่าง ๆ

“สายเสริม” การเสริมความเป็นศิริมงคล โชคชะตา มีกิจกรรมดูฮวงจุ้ย ดูดวงด้วยตัวเลข ลายมือ ดวงชะตา ราศี สัมผัส ไพ่ ใบไม้จำหน่ายต้นไม้มงคล ศาลพระภูมิ สังฆภัณฑ์ ร้านเครื่องประดับมู ร้านดอกไม้พวงมาลัย เทียนหอม

“สายอาสา” กิจกรรมและนิทรรศการโดยมูลนิธิโพธิภาวนาสงเคราะห์และมูลนิธิร่วมกตัญญูซึ่งสามารถร่วมทำบุญกับทั้ง 2 มูลนิธิได้เช่นกัน

“สายเพลิน” กิจกรรมงานวัดแบบดั้งเดิม อาทิ ชิงช้าสวรรค์ ยิงปืนจุกน้ำปลา ปาลูกโป่ง สาวน้อยตกน้ำพร้อมพิเศษกิจกรรม “แต่งผี ฟรีเครื่องเล่น” อีกด้วย

“สายบุญ” ร่วมทำบุญ สวดมนต์ ฟังเทศน์ จากพระภิกษุวัดดิสหงษาราม (วัดมักกะสัน) ขอพรจากหลวงพ่อนาคปรก

“สายสยอง” กิจกรรมที่ชวนให้ขนลุกกับการสาธิตการละเล่นชวนสยองและการเล่าเรื่องลี้ลับต่าง ๆ อาทิ เปิดตำนานลี้ลับ 10 ที่เที่ยวไทย เช่น พระพุทธรูปพูดได้ วัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย ผีจ้างหนัง ตำนานพญานาค คำชะโนด จังหวัดอุดรธานี ตำนานยักษ์วัดแจ้งและยักษ์วัดโพธิ์ กรุงเทพ ตำนานพญากอบ ถ้ำเล จังหวัดตรัง ตำนานนางตะเคียน สาธิตการเล่นผีถ้วยแก้ว ทางผีผ่าน 33 เมตรวัดใจสุดสยอง กลุ่ม 3 คน ตะเกียง 1 ดวง

“สายกิน” ร้านอาหารริมทางยอดนิยม ขนมงานวัด ขนมโบราณ อาหารไทยพื้นบ้าน อาหารงานประเพณี เครื่องดื่มสมุนไพร ชิม “ลูกชิ้นยันต์” อาหารพิเศษเพื่อเทศกาลนี้โดยเฉพาะ บนลูกชิ้นลงยันต์นะลือชา ปรุงด้วยน้ำซุปปลุกเสกผสมด้วยน้ำมนต์ 9 วัด และต้มด้วยหม้อลงยันต์มงคล (นะโภคทรัพย์ยันต์จัตตุโรยันต์เศรษฐี)

“สายย่อ” การแสดงดนตรีไทยร่วมสมัย ดนตรีเปิดหมวก การแสดงดนตรีจากศิลปิน การแสดงวัฒนธรรมและ

“สายพิเศษ” ชมโรงเก็บรถไฟประวัติศาสตร์ โรงงานมักกะสันอาคารเก่าแก่ที่มีเอกลักษณ์อายุกว่า100 ปี อีกทั้งยังเป็นสถานที่เก็บหัวรถจักรไฟฟ้าสำคัญ ซึ่งจะได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์หน้าสำคัญในการพัฒนาการคมนาคมของประเทศไทย

ลงทะเบียนเข้างานผ่านระบบ QueQ

ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป

35,000 ท่านแรก จะได้รับสายสิญจ์ปลุกเสก

โดยเจ้าประคุณสมเด็จธงชัย (วัดไตรมิตร) ที่หน้างาน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

TAT Contact Centre โทร.1672 Travel Buddy

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *