“Neo Tourism” ท่องเที่ยวมิติใหม่ เจาะอินไซต์นักเดินทาง

“Neo Tourism ท่องเที่ยวมิติใหม่ เจาะอินไซต์นักเดินทาง” ผลงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (College of Management Mahidol University, CMMU) พบว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวครั้งใหญ่ ที่ต้องปรับตัวให้ทัน next normal ในปี 2565 หลังโควิด-19

งานวิจัยยังพบอีกว่ามี 2 กลุ่มที่พร้อมออกเดินทางหลังได้รับวัคซีน คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ (Young Neo Traveler) 18-35 ปี ซึ่งจะเลือกวางแผนการเที่ยว 3-4 วัน ด้วยงบสูงถึง 5,000 บาท สำหรับ 3 จังหวัดแรกที่จะได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี และ กลุ่มครอบครัว (Family Neo Traveler) 27-45 ปี ซึ่งงบลดลงเหลือ 3,000-5,000 บาทต่อครอบครัว สำหรับ 3 จังหวัดแรก ได้แก่ เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ส่วนใหญ่จะเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ

แหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต

ผศ. ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด กล่าวว่า “การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติจะได้ความนิยมสูงสุด จากการวิจัยพบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ 45% และกลุ่มครอบครัว 61% ต้องการออกไปสัมผัสธรรมชาติเนื่องจากอยู่ที่บ้านมาระยะนาน และการท่องเที่ยวในประเทศจะเป็นตัวเลือกที่นักเดินทางต้องการมากที่สุด ธุรกิจที่ได้รับอานิสงค์ระหว่างทริปที่นักเดินทางโหยหาที่สุด คือ ธุรกิจกลุ่มร้านอาหารและคาเฟ่ ซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่มักมีพฤติกรรมตระเวนหาอาหารโดยจะเลือกร้านที่ไม่แออัด มีพื้นที่นั่งด้านนอก เหมาะแก่การเลี่ยงการนั่งทานอาหารที่ทุกคนต้องถอดหน้ากาก หรือเน้นแบบธรรมชาติ ชมวิวทิวทัศน์ ขณะที่กลุ่มครอบครัว ให้ความสำคัญต่อการพักผ่อนในที่พักเป็นหลักมากกว่า โดยเปลี่ยนเป็นทานอาหารในโรงแรมเป็นหลัก เพราะเชื่อมั่นในการรักษาความสะอาดของภาชนะในโรงแรม และจะเลือกทำกิจกรรมในโรงแรมมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการเดินทาง ซึ่งมาตรการรักษาความสะอาด บรรยากาศของสถานที่ และบริการของพนักงาน จะเป็นสิ่งสำคัญที่นักเดินทางพิจารณามากขึ้นและพร้อมบอกต่อเมื่อรู้สึกประทับใจ อีกหนึ่งการค้นพบที่น่าสนใจคือ ธุรกิจประกันเดินทางเสริมเรื่องโควิด-19 อาจจะเป็นบริการที่มาแรง เพราะกลุ่มคนรุ่นใหม่สนใจซื้อประกันมากถึง 59.4% ขณะที่กลุ่มครอบครัวสนใจซื้อประกัน พุ่งสูงถึง 71.7%”

พ้ทยา จังหวัดชลบุรี

ช่องทางออนไลน์ในการใช้หาข้อมูลก่อนการเดินทาง พบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ นิยมดูผ่าน Facebook 31.1%, Google 29.4% และ YouTube 21.9% ด้านกลุ่มครอบครัว นิยมดูผ่าน Google 38.6%, Facebook 29.8% และ YouTube 19.8% และข้อมูลเพิ่มเติมก่อนไปเที่ยว คือ มาตรการป้องกัน Covid-19 ของสถานที่ จำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ และ ข้อมูลการให้บริการ เช่น การปรับเปลี่ยนเวลาเปิด-ปิด เป็นต้น

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

นอกจากนี้ นักเดินทางเลือกติดต่อตรงกับโรงแรม (Direct To Hotel: D2H) เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น 2% และกลุ่มครอบครัวเพิ่มขึ้น 6% ขณะที่การจองผ่าน Online Travel Agent เช่น Booking.com หรือ Agoda ลดน้อยลง กลุ่มคนรุ่นใหม่ ลดลง 5% และกลุ่มครอบครัวลดลง 3% ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มคิดเห็นตรงกันว่ายอมจ่ายแพงเพื่อให้ยกเลิกการจองได้ ดีกว่าการจองถูกกว่าแต่ยกเลิกไม่ได้ ทั้งนี้ทั้งสองกลุ่มมีความกังวลเล็กน้อยในการเดินทางโดยเครื่องบิน ในขณะที่โดยรถสาธารณะ กลุ่มคนรุ่นใหม่กังวลเล็กน้อย แต่กลุ่มครอบครัวกังวลมาก และมองว่าการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวปลอดภัยกว่า

ผศ. ดร.บุญยิ่ง เสริมว่า “ธุรกิจการท่องเที่ยวนับจากนี้ควรเสริมทำ D2H หรือ Direct To Hotel เพิ่มมากขึ้น ให้สอดรับกับพฤติกรรมนักเดินทางที่เปลี่ยนไป โดยเลือกติดต่อการจองที่พักหรือสอบถามข้อมูลกับโรงแรมโดยตรงมากขึ้น อาทิ ข้อมูลมาตรการด้านสุขอนามัย การปรับเปลี่ยนวันเวลา และเงื่อนไขการจองต่างๆ ทดแทนการจองผ่านแอปพลิเคชันเอเจนท์ออนไลน์ที่อาจไม่สามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับนักเดินทางได้ ดังนั้นกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวควรชูจุดขายด้านการสื่อสารกับนักเดินทางโดยตรงผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น LINE OA, Facebook, Instagram เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกรับพฤติกรรมดังกล่าวแบบไร้รอยต่อ หรือที่เรียกว่า Frictionsless Contact นอกจากนี้ การติดต่อลูกค้าโดยตรง (Direct to Customer) จากผลการสำรวจช่องทางที่ใช้ในการหาข้อมูลในการท่องเที่ยว การโฆษณาออนไลน์ (Online Advertising) ไปยังนักเดินทางกลุ่มเป้าหมายโดยตรง จะยังช่วยเพิ่มแรงบันดาลใจ (Inspiration) และการพิจารณาตัดสินใจ (Consideration) เพื่อสร้างโอกาสสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวอีกด้วย”

นางสาวธรชญาน์ สุขสายชล นักศึกษาปริญญาโท CMMU และหัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า “จากการวิเคราะห์ข้อมูลวิจัย ทำให้ค้นพบแนวโน้มการท่องเที่ยวใหม่ (Neo Tourism Trends) 3 ข้อ ‘Nature Seeking’ ตามหาธรรมชาติ ‘Hygieneaholic’ ติดสะอาด และ ‘Flexi Needed’ ต้องการความยืดหยุ่น พร้อมกลยุทธ์การตลาดรูปแบบใหม่เพื่อธุรกิจท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ‘Roadmap Strategies’: R (Reliable Service) ยกระดับความน่าเชื่อถือในการบริการ, O (Optimized Experience) ประสบการณ์ที่แปลกใหม่, A (Anti-Disease) ปลอดเชื้อ และปลอดภัย, D (Direct to Hotel) ดีลตรงกับโรงแรม, M (Media Matching) ใช้สื่อหลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยง, A (Alliance) กระชับมิตรกับคู่ค้า, และ P (Part of Community) ขับเคลื่อนชุมชน ควบคู่กับพัฒนาธุรกิจตนให้ยั่งยืน”

ผู้สนใจศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านการจัดการหลักสูตรไทย-นานาชาติ สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 4 ตุลาคม 2564 ที่ https://apply.cm.mahidol.ac.th/web/

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

โทร: 02-206-2000

Facebook: https://www.facebook.com/CMMUMAHIDOL

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *