Empowering Tech Tourism พัฒนานวัตกรรม เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ สู่ยุคดิจิทัล

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมมือกับ 3 ภาคส่วนสำคัญ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผู้พัฒนานวัตกรรม และนักลงทุน สร้างระบบนิเวศทางธุรกิจให้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ภายใต้ “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการท่องเที่ยวยุคดิจิทัล (Empowering Tech Tourism)”

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในงานแถลงข่าว ถ่ายทอดสดจากโรงแรม Lancaster Bangkok ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ ว่า “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการท่องเที่ยวยุคดิจิทัลนี้ ถือเป็นอีกโครงการที่ช่วยฟื้นฟูผู้ประกอบการการท่องเที่ยวให้พัฒนาศักยภาพของธุรกิจ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้ทันที ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความแข็งแรงให้แก่ผู้พัฒนานวัตกรรมที่เข้าร่วมโครงการ และเชิญชวนนักลงทุนเข้าร่วมโครงการเพื่อจับคู่ทางธุรกิจกับนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างระบบนิเวศของการท่องเที่ยวในยุคปกติใหม่ นับเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะช่วยระดมกำลังกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้พร้อมสู่ยุคดิจิทัล เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนพร้อมรับมือกับการกลับมาของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ”

โครงการนี้ คือ เว็บไซต์ www.empoweringtechtourism.com ที่รวบรวมผู้พัฒนานวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านนวัตกรรมของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว นำเสนอให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวนำนวัตกรรมไปใช้งานเพื่อเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจของตนเองให้เข้ากับยุคดิจิทัล พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ใช้เป็นช่องทางในการเลือกลงทุนในนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยว อันจะเป็นการสร้างการเติบโตให้แก่ผู้พัฒนานวัตกรรมต่อไป

โครงการฯ ยังมีการจัดงานนวัตกรรมไทยพบผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวใน 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ณ นิมมาน คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ในวันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม 2564 เวลา 9.30 – 15.00 น. ภูเก็ต ณ โรงแรม เลอ เมริเดียน ภูเก็ต บีช รีสอร์ต ในวันอังคารที่ 20 กรกฎาคม 2564 เวลา เวลา 9.30 – 15.00 น. และกรุงเทพ ณ บางกอก คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว ในวันอังคารที่ 10 สิงหาคม 2564 เวลา 8.30 – 16.00 น. เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้ประกอบการในพื้นที่ ภายในงานประกอบไปด้วยการสัมมนาจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ คลีนิกให้คำปรึกษาเพื่อผู้ประกอบการ และการจับคู่ทางธุรกิจ

ภายในงานแถลงข่าว มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการท่องเที่ยวในยุคดิจิทัล” โดยมีผู้ร่วมบรรยาย นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรมสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TEDFund) และ ดร.เปาว์ ศรีประเสริฐสุข SVP ผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรม ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ธุรกิจท่องเที่ยวปรับตัวอย่างไร

นำเทคโนโลยี่และดิจิทัลมาใช้อย่างไรบ้าง

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ เปิดเสวนาว่า “วันนี้ พฤติกรรมของผู้ค้าที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นอาหารต้องขายผ่านออนไลน์ ผมไม่เคยใช้ออนไลน์ ก็ใช้เป็นสั่งอาหารกินได้ เพราะฉะนั้น โควิดเหมือนมาสอนพวกเราให้รู้ออนไลน์หรือดิจิทัล นั่นคือสิ่งสำคัญในอนาคตที่ไม่รู้ไม่ได้แล้ว เราต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนามาใช้ 2 นัยยะ การลดต้นทุนขององค์กร และการตลาด”

นายยุทธศักดิ์ สุภสร กล่าวว่า “ดั่งที่ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพูด สถานการณ์โควิดนั้น ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทในหลายๆ อย่าง ไม่ว่าต้นทุนในการดำเนินงาน แนวทางในการทำการตลาด สิ่งต่างๆ เหล่านี้ มันเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการให้เกิดการปรับตัว แต่การปรับตัว หรือ การเปลี่ยนแปลงนั้น มันทำคนเดียวไม่ได้ โครงการนี้ Empowering Tech Tourism เหมือนทำให้ 3 โลกมารวมกัน โลกที่หนึ่งคือ ผู้ประกอบการ ต้องปรับตัวตามเทคโนโลยี่ กระแสที่เปลี่ยนแปลงไป โลกที่สองคือ ผู้พัฒนานวัตกรรม เป็นเรื่องของ service มากขึ้น โลกที่สามคือ นักลงทุน ไม่ได้อยู่ที่ตลาดหุ้นหรือการเงิน แต่เป็นการลงทุนในเชิงนวัตกรรมที่สามารถสร้างดอกสร้างผลได้ เราเอาสามโลกมารวมกัน สุดท้ายแล้วมันเป็นการเติมเต็มให้กับทั้งสามส่วน ไม่ว่าในส่วนของผู้ประกอบการที่จะมีขีดความสามารถทางด้านดิจิทัลหรือ digital literacy เพิ่มมากขึ้น สามารถใช้ดิจิทัลมาตอบโจทย์ ความต้องการของนักท่องเที่ยวหรือผู้บริโภคในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะเดียวกัน ผู้พัฒนานวัตกรรมก็สามารถจะเข้าถึงผู้ประกอบการ เราจะได้รู้ถึงความต้องการ และพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบสนองผู้ประกอบการได้ มันจะส่งผลไปสู่ผู้ลงทุนด้วย ซึ่งเห็นโอกาส และอาจจะลงทุนในส่วนของผู้พัฒนานวัตกรรมและผู้ประกอบการที่ใช้นวัตกรรมนั้นๆ ผมคิดว่า โครงการนี้เป็นปรากฎการณ์ หรือจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ไม่เฉพาะเรื่องของโควิดเท่านั้น การเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยต่อไปในระยะยาว”

Empowering Tech Tourism ประกอบไปด้วย 2 ส่วน

“ออนไลน์” แพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมสามส่วนเข้าด้วยกันและเอื้อกัน

“ออฟไลน์” เวทีที่สามส่วนมาเจอกัน เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

นายชำนาญ กล่าวว่า “เรามี 100 กว่าสมาคม มีสมาชิกทั่วประเทศไทย ทุกจังหวัดและในกรุงเทพ 48 สมาคม รวมแล้วไม่ต่ำกว่าแสนราย หน้าที่ผมคือประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมให้สมาชิกเข้าถึงดิจิทัล”

ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร: “ตรงกับภารกิจที่เราจำเป็นต้องทำเรื่องของ digital transformation หรือการให้ผู้ประกอบการในทุกๆ sector ปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้เครื่องมือและเทคโนโลยี่ดิจิทัลที่เหมาะสมกับการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพ หรือการเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ใหม่ จริงๆ แล้ว ท่องเที่ยวเป็น sector หลัก สิ่งที่ depa ทำและเข้ามามีส่วนช่วยได้มากในโครงการนี้ก็คือ ก่อนอื่นเลย เรามีการพัฒนาผู้ประกอบการที่เป็นผู้ประกอบการดิจิทัล ผู้พัฒนานวัตกรรม และทำให้เกิดมาตราฐานเชื่อถือได้และขึ้นทะเบียน เราเรียกว่าเป็นผู้ประกอบการผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี่ดิจิทัล หรือ digital service provider และอีกกลุ่มคือ digital startup ซึ่งทั้งสองกลุ่ม depa ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว และก็มีการส่งเสริมให้ทุน มีการทำเรื่องของการพัฒนาศักยภาพ เราต้องการให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้เข้าไป matching กับผู้ประกอบการ ไม่ว่า ท่องเที่ยว ถ้าเป็น SME โรงแรม ร้านอาหาร สปาต่างๆ depa ยินดีส่ง solution ต่างๆ เข้ามาเป็นส่วนร่วมโครงการนี้”

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง: “โควิด-19 คือ disruption แต่เป็น bad disruption มันทำให้โลกเปลี่ยนแปลงในทางที่ลำบากมากขึ้น สองปีที่แล้ว travel tech เป็นกลุ่มอุตสาหกรรม startup ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เราทำ startup ecosystem เราแบ่งเทคโนโลยี่อุตสาหกรรมเป็น 9 ด้าน travel tech เป็นด้านที่โตไวมากและมี potential สูง เราพาไป road show งาน ITB ที่เยอรมัน เราพาไปออกงานต่างๆ ซึ่งต่างชาติให้ความสนใจ แต่แล้วเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น บริษัท startup เกิดปัญหาเยอะเหมือนกัน หลายๆ บริษัทต้องเปลี่ยนแปลงไป สำนักงานเราให้ทุนรวม 70 ล้านบาทในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อที่เขาจะได้ปรับเปลี่ยนตัวเอง เรามี Academy เสริมความรู้ให้ผู้ประกอบการ เรามีเรื่องของการทำการตลาดก็คือสร้าง market place ทั้ง domestic และ international เราสร้าง global hub เพื่อเชื่อมโยงให้เขาหาตลาดทั้งในประเทศและ Southeast Asia รวมถึงยุโรปด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นแพลตฟอร์มที่เราวางรองรับไว้เพื่อผู้ประกอบการ ทั้งที่เป็นตัวเงิน ท้้งเป็นเรื่องของ non-financial ก็คือเรื่องของโอกาสทางตลาด ปรกติเรามีแคตาล็อคของผู้ประกอบการในแต่ละด้าน เช่น food และ health และล่าสุด travel tech ซึ่งจะบอกถึง ecosystem ในการพัฒนาผู้ประกอบการทางด้านสายเทคโนโลยี่เกี่ยวกับท่องเที่ยวทั้งหมด มี ready-to-use product ได้มาตราฐานและใช้งานจริง ซึ่งสามารถรองรับโครงการนี้”

ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช: “เราเป็นกองทุนน้องใหม่ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทุนของ TEDFund เรามุ่งเน้นให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีไอเดียและอยากจะเป็น startup มีกลุ่มหนึ่งที่ทำเกี่ยวกับ travel tech เรามีหน่วยงานที่เรียกว่า TED Fellows อยู่ในพื้นที่ เป็นมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ น้องๆ ในภูมิภาคที่มีไอเดีย อยากจะทำธุรกิจเป็น startup รุ่นใหม่ ก็จะมาขอทุนกับเรา ซึ่งในกลุ่มที่เป็น travel tech เขามองเห็นจุดเด่นในพื้นที่ของตัวเอง และก็คิดว่าน่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยว และสามารถยกระดับในชุมชนของเขาให้เข้ามาสู่ตลาดนักท่องเที่ยวได้ และยิ่งเป็น digital tranformation การที่สามารถดึงนักท่องเที่ยวต่างพื้นที่เข้ามาในพื้นที่ของตัวเอง จะเป็นประโยชน์ได้มาก ปัจจุบัน เรามีน้องๆ ประมาณ 200 รายที่อยู่ในโครงการของเรา และน้องๆ กำลังพัฒนาทั้งในตัว product และ service ผ่านทุนที่เราให้ ก็จะมีทั้งแพลตฟอร์มหรือ deep tech ที่อาจจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่จะช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้ การร่วมโครงการนี้ จะเป็นโอกาสน้องๆ ที่ทำเทคโนโลยี่และนวัตกรรมในภูมิภาคได้มีโอกาส matching กับผู้ประกอบการในกลุ่มท่องเที่ยว และก็จะช่วยยกระดับให้น้่องๆ ผมคิดว่า น้องๆ ในภูมิภาคที่มี know how และรู้จุดแข็งในพื้นที่ของตัวเองในด้านการท่องเที่ยวจะสามารถช่วย support ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวได้”

ดร.เปาว์ ศรีประเสริฐสุข: “ธนาคารกรุงเทพ เป็นสถาบันการเงินในการที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการทางธุรกิจ ให้มีความสามารถในการบริหารการจัดการทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม ด้วยการสนับสนุนทางผลิตภัณท์และบริการต่างๆ ของธนาคารที่มีความหลากหลายและครบวงจร ควบคู่กับการนำเทคโนโลยี่ใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาจาก startup และผู้ประกอบการต่างๆ มาพัฒนาผลิตภัณท์และบริการของเราให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างโครงการ Bangkok Bank InnoHub ที่ผ่านมา โครงการนี้ เรามีสินเชื่อรูปแบบใหม่ในอัตราพิเศษให้ผู้ประกอบการและผู้พัฒนานวัตกรรมเพื่อสภาพคล่องในการดำเนินทางธุรกิจ รวมถึงระบบชำระเงินต่างๆ เพื่อให้ชำระเงินค่าสินค้าและค่าบริการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ธนาคารมีบริการให้ปรึกษาทางธุรกิจ รวมถึงการเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับเครือข่ายพันธมิตรของธนาคารให้เกิดความร่วมมือกันเกิดขึ้น เพื่อที่จะขยายธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถ ทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน และก็เป็นระยะยาวต่อไป โดยทางธนาคารได้ออกบูธทั้ง 3 จังหวัด กรุงเทพ เชียงใหม่และภูเก็ต”

ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับคืออะไร

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า “สิ่งที่เห็นได้ชัดคือช่วยเพิ่มศักยภาพในทุกๆ มิติ ของผู้ประกอบการที่ถูก disrupt โดยเทคโนโลยี่หรือโควิดก็แล้วแต่ ซึ่งนำมาของการที่จะต้องใช้ขีดความสามารถของดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้น สำหรับนวัตกรรม ผมคิดว่าคนที่คิดนวัตกรรม สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดคือมันต้องมีคนเอาไปใช้ มันก็เกิด practicality เติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง ก็คือเทคโนโลยี่เหล่านั้นจะต้องถูกนำไปใช้ ขณะเดียวกันทางด้านการเงินก็เหมือนกัน ผู้ลงทุนก็เหมือนกัน แน่นอนกำไรก็เป็นสิ่งที่อยากได้ แต่กำไรนั้นมันทำให้เกิดการเติบโตที่ยั่งยืนในส่วนของผู้ประกอบการและผู้พัฒนานวัตกรรมแล้ว ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ตั้งใจสูงสุดที่จะเกิดขึ้น”

ติดตามข่าวสารของโครงการได้ที่ www.empoweringtechtourism.com และ www.facebook.com/empoweringtechtourism

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *