The Living Art Gallery งานแสดงศิลปะที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์

“The Living Art Gallery” แกลเลอรี่แห่งแรกของประเทศไทย ที่รวบรวมงานศิลปะทุกแขนงจากทั่วทุกภาคของประเทศไทย เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันนี้ เริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2563 ที่ บลูทรี ภูเก็ต (Blue Tree Phuket) แลนด์มาร์คแห่งการพักผ่อนและแหล่งความบันเทิงครบวงจร (Entertainment Compex) แห่งแรกในภูเก็ต

The Living Art Gallery เปิดให้ชมฟรี ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 15.00 น.ถึง 22.00 น. ที่โครงการบลูทรี ภูเก็ต

คุณอ้อม-สรณ์ฉัตร ไกรนรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ The Living Art Co., Ltd ที่มากด้วยประสบการณ์ในการจัดงานเฟสติวัลระดับนานาชาติและหลงใหลในงานศิลปะเป็นชีวิตจิตใจ กล่าวว่า “ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงาม มีเสน่ห์และเอกลักษณ์สามารถดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก อีกทั้งยังเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอีกด้วย การนำงานศิลปะมาไว้ในที่เดียวกันจะทำให้เมืองภูเก็ตกลายเป็นศูนย์กลางของตลาดศิลปะและวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ หรือที่เรียกว่า MICE for Arts, Culture and Creative City เรานำ designer ที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยชาวบ้านในการผลิตชิ้นงานศิลปหัตถกรรมต่างๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับชาวบ้าน ประการหลักก็คือ เราจะสร้างภูเก็ตให้เป็น Creative City Hub คือเราต้องการให้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนงานศิลปะ หัตถกรรม หรืองาน design ทุกสาขาด้วยศักยภาพของจังหวัดภูเก็ต ที่มี International Airport การเดินทางก็สะดวก พอมาเจอในเรื่องของ New Normal คุณสุกฤตย์ สุรบถโสภณ (CEO, VRtwinS Co., Ltd) ได้นำระบบ Visual Reality เข้ามาช่วยเราในเรื่องของเทคโนโลยี่”

คุณอ้อม-สรณ์ฉัตร ไกรนรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ The Living Art Co., Ltd (ที่ 3 จากซ้าย), นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต (ที่ 2 จากซ้าย) และนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณอยุธยา ผู้อำนวยการ TCEB (ที่ 3 จากขวา)

นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดงาน The Living Art Gallery กล่าวว่า “จังหวัดภูเก็ตได้รับผลกระทบมากที่สุด เทียบกับจังหวัดอื่นๆ เนื่องจากว่าเรายืนขาเดียวด้วยรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก พอเราประสบปัญหาเรื่องโควิดเข้ามา เศรษฐกิจของเรา โดยเฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศหายวับไปหมดเลย จาก 10 ล้านคนที่มา และก็วันนี้ไม่มี รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยปีละ 4 ล้านคนประมาณ 50,000 กว่าล้านบาท และก็ลดต่ำกว่าเดิม 10 ล้านจากชาวต่างชาตินั่นหมายถึง 4 แสนล้าน เพราะฉะนั้นวันนี้ ภูเก็ตป่วยหนัก เมื่อภูเก็ตป่วย หมายถึงประเทศไทยป่วยด้วย เพราะฉะนั้นเราต้องเร่งรักษาภูเก็ตให้หายป่วยเร็วที่สุด ทำอย่างไรให้ฟื้นคืนขึ้นมา เราอยู่ได้ด้วย nature และ culture ซึ่งคำว่า gastronomy น่าจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวอยู่กับเรานานขึ้น แล้วก็สร้างรายได้ให้กับประเทศมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ดีมาก ที่เราต้องส่งเสริมกัน”

The Living Art Gallery แบ่งออกเป็น 4 ธีม คือ “Peranakan”, “Forest”, “Blue Ocean” และ outdoor live performance ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากอัตลักษณ์ของเมืองภูเก็ต

PERANAKAN

อวิกา สมัครสมาน

อวิกา สมัครสมาน

“ผลงานที่ทำใน The Living Art เป็นการดึงเอาโครงสร้างของสถาปัตยกรรมแบบเพอรานากัน ที่อยู่ใน Old Town Phuket เข้ามาเป็นโครงสร้างหลักของงาน ดึงโครงสร้างมาและก็ทำตัวโครงสร้างนั้นให้เป็นโครงสร้างงานจริงด้วย ปรกติเราจะใช้เส้นยืนในการทอ แต่นี่เราทอลงไปบนเส้นเหล็กที่เป็นโครงสร้างของงาน งานประกอบไปด้วยประตู หน้าต่าง และช่องลม ในพื้นที่งานจะมีวิธีการจัดวางเป็นลักษณะของห้องมีประตูหนึ่งบาน หน้าต่างสองบาน และมีช่องลมต่างๆ รวมทั้งงานชิ้นใหญ่ขนาด 8.20 x 4 เมตร เราใช้วัสดุที่เป็นเส้นด้าย ไหมพรม ลูกปัดและเลื่อม งานแต่ละชิ้นมีมิติของโครงสร้างและมิติของงานทอด้วย”

องค์กร ศิลปางค์กุล

องค์กร ศิลปางค์กุล

“งานชิ้นนี้ชื่อว่า “I Am What I Am” วาดด้วยสีน้ำมันบน canvas คอนเซ็ปต์ของงานนี้ พูดถึงสิ่งต่างๆ ที่เอ็มชอบและก็เอามารวมกันเพื่อจะให้เกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์เฉพาะตน พูดถึงความงามของผู้หญิงที่มีเฉพาะบุคคลคนเดียว ผู้หญิงแต่ละคนมีความงามเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง ก็เลยอยากให้เขามีความมั่นใจในตัวเอง เอ็มเป็นคนชอบสัตว์ ชอบธรรมชาติ กับงานนี้ เอ็มว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ ดอกไม้ทะเลและสีสันที่ปรากฎในลายชุดบาบ๋าย่าหยา ในเสื้อผ้าของผู้หญิง”

สุนิสา อัศวินรุ่งโรจน์

สุนิสา อัศวินรุ่งโรจน์

“งานชื่อ “Happiness Blossom” คือเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกระต่าย ซึ่งระลึกถึงกระต่ายน้อยที่เราเลี้ยงและเจออุบัติเหตุแล้วจากไป ผลงานจะเล่าถึงความสุข สนุกสนาน เพื่อที่จะขอให้เขาไปอยู่ในที่ที่มีแต่ความสุข ความสวยงาม เป็นเทคนิคปัก free motion คือเราสามารถบังคับทิศทางได้เอง ใช้เข็มแทนภู่กันในการวาดรูป กับงานนี้ เราเลือกชุดบาบ๋าย่าหยาและกลิ่นอายของชิโนโปรตุกีส สีสันสดใส”

ศราวุธ ยาสมุทร

ศราวุธ ยาสมุทร

“งานชิ้นนี้ว่าด้วยเรื่องสาวภูเก็ต คมเข้มและสวยงาม ใช้อารมณ์ในงาน Abstract ในการนำเสนอ คือว่า ข้างหลังภาพเป็นนามธรรมที่ดูแล้วเป็นมวลดอกไม้ ผีเสื้อ ผมเอางานมาแสดง 5 ชิ้น 4 ชิ้นเป็น Abstract ล้วน เป็นเหมือนกองสี เหมือนสายลมพัด ให้ความรู้สึกสดชื่น เลยเปรียบเสมือนว่า ให้ผู้หญิงภูเก็ตแต่งตัวชุดบาบ๋าย่าหยามารวมกับงาน Abstract ที่ผมเคยทำ”

FOREST

พระนาย เกษมถาวรศิลป์

พระนาย เกษมถาวรศิลป์

“ผลงานของผมเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับ ความงดงาม ของวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยใช้ใบหน้าเป็นสื่อ และพื้นผิว รอยแตกในงานสะท้อนถึงเรื่องเวลา และการเปลี่ยนแปลง ในนิทรรศการนี้ มีผลงานที่นำมาจัดแสดง 3 ชิ้น ต่างวัฒนธรรม สื่อถึงการอยู่ร่วมกันของคนจากหลากหลายเชื้อชาติในภูเก็ต มีการนำลวดลายผ้าพื้นเมืองของภูเก็ต มาใช้ประกอบในงานด้วย งานบางชิ้นแสดงถึงเอกลักษณ์ของชาวภูเก็ต และการรวมอยู่ของศิลปะที่สอดแทรกในเมืองภูเก็ตที่มีให้เห็นทั่วไป”

ลิขิต ตันอุตม์

ลิขิต ตันอุตม์

“ชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากวิถีชีวิตตอนวัยเยาว์ เบื้องต้นจากครอบครัว พ่อแม่ลูก เกิดจากป่า ก็เลยเขียนสัตว์ป่าเป็นความภาคภูมิใจ และเป็นแรงบันดาลใจ เป็นงานจิตรกรรมร่วมสมัยเทคนิคผสม และภาพนี้เป็นเรื่องราวของไฟที่กำลังเข้าป่าและช่วยกันดับ เป็นความทรงจำตอนเล็กๆ ทุกวันนี้ไฟป่าก็ยังมีอยู่ อย่างน้อยก็เป็นการกระตุ้นเตือน กับงานนี้ เป็นวิถีชีวิตของคนที่อยู่ร่วมกัน”

BLUE OCEAN

กุลเชษฐ์ ขาวไชยมหา

กุลเชษฐ์ ขาวไชยมหา

“ชิ้นแรกผมเกี่ยวกับเทพธิดาในมหาสมุทร ผมใช้ภาพของหญิงสาวในการผสมผสานกับธรรมชาติใต้ท้องทะเล เพราะว่า เราต้องการที่จะสื่อสารว่า คนที่จะมีชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างมีความสุข ถ้าคนมีชีวิตเหนือธรรมชาติ ต่อไปความสุขจะไม่เกิดเพราะธรรมชาติถูกทำลาย อีกภาพเป็นเรื่องของความฝัน ชีวิตผมเองอยู่ห่างไกลธรรมชาติ เมื่อก่อนผมก็ชอบดำน้ำตามหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลใต้หลายที่ เราก็อาศัยความงามใต้ท้องทะเลมาระลึกถึง เวลาที่เราอยู่ในสังคมเมือง กับงานนี้ เราดึงความงามเรื่องดังๆ ของภูเก็ต ท้องทะเล วัฒนธรรมบาบ๋าย่าหยา และชิโนโปรตุกีส

พิชุภา โสภโณวงศ์

พิชุภา โสภโณวงศ์

“ปรกติ เป็นฟรีแลนซ์ครูสอนดำน้ำอยากจะถ่ายทอดสิ่งที่เราเห็นด้วยตา ในท้องทะเลลึก เป็นภาพวาด เริ่มด้วยสีอะคริลิคแบบ deep blue อยากให้รู้สึกมีสัตว์อยู่ในน้ำจริงๆ เหมือนที่เราเห็นในน้ำลึก หลังจากนั้นก็เอามาทำเป็นเซรามิกเพ้นท์ในจานเพื่อให้เกิดความ unique ออกมา ในงานนี้มีภาพวาด 4 ชิ้นและเซรามิก 6 ชิ้น ในส่วนของ Blue Ocean”

ดุจจันทร์ จริตงาม

ดุจจันทร์ จริตงาม

“ผลงานทั้งหมดมี 7 ชิ้น ประกอบไปด้วย สร้อยแบบต่างๆ เช่น สร้อยยาว โชคเกอร์ แหวน และ สร้อยข้อมือ โดยผลงานทุกชิ้นสามารถนำมา mix and match ด้วยกันได้ วัสดุหลักของคอลเลคชั่นนี้คือมุกอะโกย่า และ พลอยสปิเนลจากพม่า ตัวเรือนทั้งหมดเป็นงานเงินชุบพิงค์โกลด์ เหตุผลที่ทำงานเป็นมุกเนื่องจาก อยากเปลี่ยนความคิดของผู้ใส่ว่า การใส่มุกไม่จำเป็นจะต้องใส่ในงานพิธีการเท่านั้นแต่สามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ทุกโอกาส โดยดีไซน์หลักของงานชิ้นนี้เป็นผีเสื้อ ได้แรงบันดาลใจจากโลโก้ของ The Living Art ทั้งนั้นผีเสื้อยังสื่อไปถึงความงดงามอ่อนหวานของหญิงสาว ท้ายที่สุดคอลเลคชั่นนี้ยังส่งเสริมชาวบ้านในชุมชน จ. ภูเก็ตในการร้อยมุกแต่ละเม็ด งานทุกชิ้นเป็นแฮนด์เมด”

OTHER ARTISTS

รุ้งชีวัน คำวิชิต, ที่ 2 จากซ้าย

รุ่งชีวัน คำวิชิต

ดีไซน์เนอร์ ผู้ที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติรอบตัวในการทำให้เกิดลวดลายต่างๆบนผ้ามัดย้อม โดยการใช้เทคนิคแบบชิโบริเข้ามาผสม

บัญชา ชูดวง

สไตลิสต์ชื่อดังระดับแถวหน้าของเมืองไทย ออกแบบคอลเลคชั่นเฉพาะของ The Living Art เท่านั้น โดยฝีมือการปักผ้าของนักโทษชายแดน 3 จากจังหวัดเชียงราย

ชัยฤทธิ์ ศรีสง่าสมบูรณ์

ศิลปินสีน้ำผู้วาดภาพแนวธรรมชาติเสมือนจริงราวกับภาพถ่าย

สมลักษณ์ ปันติบุญ

ปรมาจารย์ของงานปั้นดินเผาที่รู้จักกันในนาม ดอยดินแดง จังหวัดเชียงราย

การเปิดตัวในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะก้าวไปสู่งานเฟสติวัลใหญ่แห่งปีของจังหวัดภูเก็ต “The Living Art Festival 2020” ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 17-20 ธันวาคม 2563 โดยมีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB เป็นผู้สนับสนุนหลัก ยังมีพันธมิตร อย่าง True Digital, VietJet Air, Love Andaman, Villa Enjoy, Villa MoMo, บ้านอาจ้อและอื่นๆ

นายบุญเพิ่ม อินทนปสาธน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มูฟ เอเชีย จำกัด, คุณอ้อม-สรณ์ฉัตร ไกรนรา, นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา, ผู้ว่าภูเก็ต นายณรงค์ วุ่นซิ้ว, นายนรภัทร ปลอดทอง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณอยุธยา ผู้อำนวยการ TCEB กล่าวว่า “คำว่า Gastronomy และ Inspiration จริงๆ แล้ว มีความหมายมาก Gastronomy ไม่ใช่เรื่องของอาหารอย่างเดียว แต่ Gastronomy คือ living lifestyle เหมือนที่เราเห็นที่นี่ คงไม่มีที่ไหนเหมือนที่นี่เหมือนกัน มีทั้ง leisure ทะเล มีทั้งทุกอย่าง และยังมีในส่วนของ Living Art ที่เรากำลังจะเปิดตัวขึ้น เพราะฉะนั้น นี่คือสิ่งที่เราอยากให้คน เห็นในประเทศไทยว่า เรามีสิ่งที่ดีแบบนี้ในประเทศไทย เราสามารถจัดเป็นเมกะอีเว้นต์ จัดเป็นอะไรได้อีกเยอะ”

The Living Art Festival 2020 จะจัดแสดงงานศิลปะทุกแขนง รวมถึงอัตลักษณ์เรื่องอาหาร ดนตรี และ วัฒนธรรมท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปะ งานฝีมือ องค์ความรู้พื้นถิ่น และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ทั่วประเทศไทยอีกด้วย The Living Art Festival จะเป็นเทศกาลประจำปีที่จะสามารถสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศและมีความยั่งยืนในอนาคตอีกต่อไปด้วย

The Living Art Gallery at Blue Tree Phuket

เปิดให้ชมฟรี ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 15.00 น.ถึง 22.00 น.

ชมผ่านระบบ VR เสมือนจริง ได้ที่

www. thelivingarts thailand.com

ชมเป็นหมู่คณะ นัดล่วงหน้า

CALL: 065-926 9455

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *