ลิ้มลองอาหารปักษ์ใต้ รสชาติแบบคนใต้ กับ 5 เมนู ข้าวกล่องชุมพร

“เข้าถึง…อาหารใต้” เป็นแคมเปญชีพจรลง South ระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ Neighbour Foods โครงการเชฟแคร์และพันธมิตร ที่เปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวภาคใต้ ผ่านอาหารใต้และวัตถุดิบท้องถิ่น ก่อนมาปรุงเป็นเมนูเด็ดและส่งต่อรสชาติแบบคนใต้ให้คนกรุงเทพได้ลิ้มลอง โดยเริ่มจากชุมพรเป็นจังหวัดแรก

ม.ร.ว. รุจยาภา อาภากร, นิธี สีแพร, เชฟนิค-ณัฏฐพล ภวไพบูลย์ และเฟิร์น-ศุภนารี สุทธิวิจิตรวงษ์

เปิดเผยว่า “เราพูดถึงภาคใต้ พูดถึงการท่องเที่ยว พวกเราถูก lockdown อยู่กับบ้าน พอปลด lockdown สิ่งแรกที่ทุกคนทำ คืออยากจะไปท่องเที่ยว แต่ไปแล้วต้องไปให้ถึงด้วย ซึ่งความคิดถึงมีอยู่ 5 อย่าง ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคน เช่น คิดถึงธรรมชาติ เราก็มีโครงการ คิดถึงอ้อมกอดธรรมชาติ คิดถึงก๊วนกอล์ฟ เราก็มีโครงการคิดถึงก๊วนกอลฟ์ คิดถึงชุมชน คิดถึงแหล่งท่องเที่ยวสุขภาพและคิดถึงอาหารจานโปรด ที่เรากำลังพูดถึงกัน อาหารใต้ถือว่าเป็นอันดับแรกๆ ที่ทุกคนต้องมีอย่างน้อย 1 มื้อใน 7 วัน ไม่ว่าจะเป็นแกงเหลือง แกงไตปลา หรือแม้กระทั่งสะตอ ใบเหลียง จะเห็นว่าภาคใต้ของเรา จะมีความพร้อมทุกอย่าง ที่เราบอกว่า ชีพจรลง South เล่นคำจาก ชีพจรลงเท้า เพราะว่า ภาคใต้มีเรื่องของแรงบันดาลใจ ทัศนียภาพที่สวยงาม ผู้คนมีเอกลักษณ์ เป็นนักสู้ มีความคิดสร้างสรรค์

นายนิธี สีแพร ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

“จริงๆ แล้วภาคใต้มีความหลากหลายของอาหารการกินในเชิงของวิถีชีวิต อย่างเช่น มีอาหารใต้แบบแท้ๆ ที่มีรสชาติจัดจ้าน ไม่ว่าเป็นแกงเหลือง แกงไตปลา คั่วกลิ้ง แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะมีชุมชนจีนที่เป็นกลุ่มบ้าบ๋า-ย่าหยา เปอรานากัน อาหารจะเป็นจีนแบบฮกเกี้ยน รสชาติที่แตกต่างออกไป ในขณะเดียวกันเรามีพี่น้องมุสลิม แกงตอแม๊ะห์ ไก่กอและ แต่วันนี้ เราเสนอความใต้แบบแท้ๆ พอมี Neighbour Foods อาหารใต้หาทานไม่ยากอย่างที่คิด เราคิดว่า สิ่งเหล่านี้ อาหารเป็นส่วนหนึ่ง สำหรับคนที่ไลฟ์สไตล์ที่ชอบเดินทางและไปหาอะไรทาน สายกินทั้งหลาย เป็นตัวเชื่อมโยงของการเดินทางท่องเที่ยว อาหารไปสู่ชุมชน ซึ่งเป็นอะไรที่ ทาง ททท ทำอย่างไรก็ได้ให้การท่องเที่ยวได้กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น”

เฟิร์น-ศุภนารี สุทธิวิจิตรวงษ์ และ เชฟนิค-ณัฏฐพล ภวไพบูลย์ มาถึงจังหวัดชุมพร

โดยการเปิดตัวแคมเปญนี้ เชฟนิค-ณัฏฐพล ภวไพบูลย์ ได้ชวน เฟิร์น-ศุภนารี สุทธิวิจิตรวงษ์ เจ้าของเพจ Supanaree story ที่มีผู้ติดตามกว่า 550,000 คน ไปเที่ยวจังหวัดชุมพร ประตูสู่ภาคใต้ 2 วัน 1 คืน ทั้งคู่ได้ตะลุยเที่ยวอย่างเต็มอิ่ม เริ่มตั้งแต่ขึ้นไปจุดชมวิวบนเขามัทรี ไหว้เจ้าแม่กวนอิม ดื่มกาแฟถ้ำสิงห์ บุกครัวบ้านผู้ใหญ่ ทำผ้าบาติกกับกลุ่มบาติกผาแดง ดำน้ำดูปะการังที่เกาะง่ามน้อย-ง่ามใหญ่ กินปูห้อยขา นั่งเรือออกไปไดหมึกยามราตรี นอนสบายที่โฮมสเตย์พี่น้อย

เชฟนิค-ณัฏฐพล ภวไพบูลย์

เชฟนิค กล่าวว่า “การทำอาหารกับเชฟเป็นของคู่กัน แต่ว่า โครงการนี้ เป็นโครงการที่เราอยากจะให้ เอาจริงๆ แล้ว วันแรกที่คิดโครงการนี้ขึ้นมา คือเอาตัวเองไปโชว์สกิลในการทำอาหารให้ชาวบ้านได้เห็น ไปถึงแล้ว ได้ไปอยู่สัมผัสกับชุมชน ได้เห็นวิถีทำอาหารแบบ ที่เรียกว่า เป็นวัฒนธรรมอาหารจริงๆ ที่เราเรียนแค่ผิวตลอดชีวิต พอเราไปเจอกับชาวบ้านที่เขาทำกับข้าว โคลกเครื่องแกงข้างๆ กับเราที่เดินไปซื้อเครื่องแกงมาเอง เก๋าไม่ออกเลย อายมากเลย เราถึงจุดนี้หรือยัง นี่คือคำถาม ทำแกงไตปลา เรารู้มั้ยว่า เครื่องแกงมีอะไรบ้าง ดังนั้นการที่จะไปโชว์สกิลในตอนแรก กลายเป็นการเรียนรู้ รับรู้ เก็บข้อมูลวัฒนธรรม ปราชญ์ชาวบ้าน วิถีทำอาหาร และนำกลับมาให้คนกรุงได้รับประทานกัน การที่เราเป็นเชฟ เราควรที่จะเรียนรู้ในแก่นของอาหารจริงๆ เพื่อนำมาบอกคนอื่น เขาอาจจะไม่มีเวลาได้สอนคนอื่นแล้ว เขาทำธุรกิจของเขาก็จะแย่อยู่แล้วในช่วงนี้ แต่ตอนนี้ เราจะทำให้สูตรของเขา เก็บของเขา ปราชญ์ของเขา แล้วมาเผยแพร่ให้คนอื่นได้เห็น นั่นคือเป้าหมายของผม กับโปรเจ็คนี้”

เชฟนิค-ณัฏฐพล ภวไพบูลย์ และ เฟิร์น-ศุภนารี สุทธิวิจิตรวงษ์ กับ 5 เมนูอาหารใต้

เอกลักษณ์ของวัตถุดิบที่พื้นถิ่นอย่าง ใบเหลียง แตกต่างจากที่อื่นอย่างไรบ้าง

เชฟนิค อธิบายให้ฟังว่า “แน่นอนครับ ใบเหลียงที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและใบเหลียงที่ปลูกต่างกันอย่างชัดเจน ใบเหลียงที่ปลูกเขาเร่ง ใบก็จะเล็กๆ หน่อย แต่ใบเหลียงที่เราเห็นที่ชุมพร มันกลายเป็นรั้วบ้าน และเป็นภาพสวยงามที่ทุกคนเก็บใบเหลียงต้นเดียวกัน ใบประมาณฝ่ามือและเขียว แล้ววิธีการผัดของเขา ไปดูได้เลยครับ ทุกวันนี้อาหารใต้ที่กรุงเทพ ผัดใบเหลียงมาเฉาและดำ แต่ผมไปเรียนรู้มาแล้ว”

เฟิร์น-ศุภนารี สุทธิวิจิตรวงษ์

เฟิร์น พูดว่า “ไม่เคยกินใบเหลียงผัดไข่ แต่ไปเด็ดกินกับต้น มันออกมันๆ เปรี้ยวๆ และก็ใบชะมวง”

เชฟนิค พูดต่อว่า “ไปถามชาวบ้านว่า ปลูกใบชะมวงทำอะไร เขาก็ตอบว่า เมนูคู่กับใบชะมวง ก็คือ ขาหมูใบชะมวง เราก็ได้เรียนรู้ วิถีของการต้มขาหมูใบชะมวงทำอย่างไร มันเก็บกลิ่นได้ขนาดนั้น ตุ๋นได้ขนาดนั้น”

เชฟนิค-ณัฏฐพล ภวไพบูลย์ และ เฟิร์น-ศุภนารี สุทธิวิจิตรวงษ์ ออกไปตกหมึก

เฟิร์น ได้เคยไปเที่ยวชุมพร และไปเที่ยวทางใต้อยู่แล้ว แต่ไม่เคยไปตกปลาหมึกที่ใต้ ไม่เคยทำผ้าบาติก เก็บใบเหลียง และไปทำอะไรที่ไม่เคยทำหลายอย่างเลย “ตอนที่เราออกไป ค่อนข้างจะมืดแล้ว พี่คนเรือบอกว่า ไม่ได้หรอก เวลานี้ไม่ใช่เวลาตกหมึก เขาจะตกตอนเย็น 5-6 โมงเย็น พอพี่นิกตกได้ ทุกคนงง นึกว่าเป็น mock-up”

เชฟนิค-ณัฏฐพล ภวไพบูลย์ และ เฟิร์น-ศุภนารี สุทธิวิจิตรวงษ์ เลือกปลาที่ตลาดเช้า

เชฟนิค เล่าว่า “พี่ยุทธนา เจ้าของเรือ ปรกติแล้ว พอไดปลาหมึกมาได้ตัวแรก จะปิ้งกิน เขาจะต้องตั้งเตาไว้กลางเรือให้เรา ปิ้งกินเป็นวิถีคนใต้นะ เขาพูดกับผมตรงๆ เลย พี่ไม่ได้ตั้งเตา พี่เขาบอกว่า นึกว่า เรามานั่งเรือเล่น ก่อนออกจากเรือ”

หนึ่งในไฮไลต์ของทริปนี้ คือ ไปชมตลาดปลายามเช้า พร้อมตระเวนหาวัตถุดิบท้องถิ่นนำมาปรุงเป็น 5 เมนูเด็ด ที่เรียกว่า ข้าวกล่องชุมพร

“ใบเหลียงสุดจะไข่” เมนูบ้านๆ ของแท้ เพราะเป็นใบเหลียงเด็ดสดๆ จากท้ายครัวบ้านผู้ใหญ่ ใบเหลียงชุมพรจะแตกต่างจากพื้นที่อื่น ตรงขนาดที่ใหญ่เกือบเท่าฝ่ามือ สีเข้ม และมันวาว เมื่อนำไปผัด น้ำมันจากใบเหลียงจะให้รสชาติที่กลมกล่อมเป็นพิเศษ

“ข้าวผัดโคตรจะปู” ชุมพรเป็นพื้นที่ที่มีปูทะเลอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ปูที่นี่จึงตัวใหญ่ เนื้อแน่น รสชาติหวาน เมื่อผัดกับข้าวในสไตล์ชาวใต้ กลิ่นไหม้อ่อนๆ ของกระทะจะหอมกรุ่นในข้าวทุกเม็ด

“สะตอผัดกุ้ง” สะตอชุมพรเป็นสะตอคุณภาพ เม็ดใหญ่พิเศษ เนื้อกรอบเด้ง กลิ่นและรสชาติชัดเจนเครื่องแกงรสจัดจ้านที่ผัดเข้ากับเนื้อกุ้งทุกตัว จึงเป็นเมนูที่บ่งบอกเอกลักษณ์ของอาหารใต้

“ปลาทรายทอดขมิ้น” ปลาทรายเป็นปลาที่มีชุกชุมในแถบชายฝั่งอันดามัน คนใต้นิยมคลุกเคล้ากับขมิ้นและนำไปทอดจนได้สีเหลืองทอง กรอบ หอม สามารถรับประทานได้ทั้งตัวโดยไม่ต้องเลาะก้างออก

“แกงไตปลา” เมนูซิกเนเจอร์ของอาหารใต้ ด้วยเครื่องแกงรสจัดจ้านที่มีความเผ็ดจากพริกขี้หนูและพริกไทย เคี่ยวกับผักและเนื้อปลาจนอิ่มน้ำแกง รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ หรือขนมจีนก็อร่อยไม่แพ้กัน

“ใครที่ชื่นชอบและอยากลิ้มรสชาติทั้ง 5 เมนูอาหารใต้นี้ วันนี้ทาง Neighbour Foods ได้จัดเป็นเซ็ท ข้าวกล่องชุมพร เปิดให้สั่งเดลิเวอรี่แล้วครับ มั่นใจได้เลยว่าทุกคำของความอร่อยมาจากวัตถุดิบส่งตรงจากท้องถิ่น และทุกออเดอร์หมายถึงรายได้ที่จะกลับคืนสู่ชุมชน คาดว่าภายใน 3 เดือนนี้ จะมีผู้ประกอบการในท้องถิ่นเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 10 ราย และจะมีรายได้สู่ชุมชนไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาทครับ” เชฟนิค กล่าว “นี่คือ สิ่งที่เราตั้งไว้ตั้งแต่ต้น real organic ให้คนในชุมชนได้มีแรง ใช้ชีวิตต่อไป”

สั่งเดลิเวอรี่เซ็ท ข้าวกล่องชุมพร ล่วงหน้า 1 วัน ได้ทาง Line: @neighbourfoods โดยเลือกอร่อยได้ 2 แบบ แบบที่ 1 เลือกได้ 2 เมนู (ยกเว้นข้าวผัดโคตรจะปู) ราคา 320 บาท/กล่องและแบบที่ 2 ข้าวผัดโคตรจะปู+1 เมนู ราคา 380 บาท/กล่อง พิเศษ 1,000 กล่องแรก รับผ้าคลุมกล่องเนื้อนุ่มลวดลายเกลียวคลื่นชุมพรที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *