คุณค่าทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ ที่กำลังเลือนหายไปกับ สกาลา

ย้อนกลับไป ก่อนที่จะมีสยามสแควร์ แหล่งชุมนุมของวัยรุ่นยอดฮิตในสมัยนั้น คือ ย่านวังบูรพา และคนหนุ่มสาวได้ถูกเรียกว่า โก๋หลังวัง เหมือนที่เราเรียกวัยรุ่นสมัยนี้ว่า เด็กสยาม ย่านนี้มีโรงภาพยนตร์ 3 โรงเหมือนกับสยามสแควร์ คือ แกรนด์ คิงส์ และควีนส์ โดยเฉพาะโรงหนังควีนส์ MRBADBOY ได้มาดูหนังอินเดียบ่อยๆ กับพ่อแม่พี่น้อง

ย่านวังบูรพา แต่เดิมเป็น วังบูรพาภิรมย์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2418 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวังที่ประทับของพระราชโอรสที่เป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์สุดท้องในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งได้เสด็จทิวงคต ในปี พ.ศ. 2471 ต่อมา วังนี้ได้ขายให้กับนายโอสถ โกศิน ในราคา 12 ล้าน 2 หมื่นบาท เพื่อสร้างเป็นศูนย์การค้าและโรงภาพยนตร์สามแห่ง คนหนุ่มสาวสมัยนั้น ได้แต่งตัวและทำผมเลียนแบบนักร้องและนักแสดงดังสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอลวิส เพรสลีย์ และ เจมส์ ดีน

หลังจากนั้น ราวๆ 10 กว่าปี สยามสแควร์ก็ได้เกิดขึ้น แรกเริ่มที่ดินบริเวณนี้ เป็นสวนผัก เป็นชุมชนแออัด จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ ชาวบ้านก็ออกจากพื้นที่ไป ที่ดินบริเวณนั้นกลายเป็นแหล่งค้าขาย ก่อนที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ได้มอบหมายให้บริษัท เซาท์อีสท์เอเซียก่อสร้าง พัฒนาที่ดินเป็นศูนย์การค้า ในปี พ.ศ. 2507 มีโรงภาพยนตร์ โรงโบว์ลิ่ง และสเก็ตน้ำแข็ง ถือได้ว่าเป็นศูนย์การค้าแนวราบที่ใหญ่สุดของประเทศไทยในขณะนั้น

คล้ายๆ ย่างวังบูรพา สยามสแควร์ก็มี 3 โรงภาพยนตร์เหมือนกัน คือ สยาม ลิโด และสกาลา โดยกลุ่มเอเพ็กซ์ของพิสิษฐ์ ตันสัจจา โรงภาพยนตร์สยาม ประกอบด้วย 800 ที่นั่ง เปิดฉายเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2509 โดยภาพยนตร์เรื่อง รถถังประจัญบาน (Battle of the Bulge) ถูกไฟไหม้ในปี พ.ศ. 2553, ลิโด ประกอบด้วย 1,000 ที่นั่ง เปิดฉายเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2511 โดยภาพยนตร์เรื่อง ศึกเซบาสเตียน (Guns For San Sebastian) หมดสัญญาในปี พ.ศ.2561 และได้ถูกเปลี่ยนเป็น Lido Connect และ สกาลา ประกอบด้วย 1,000 ที่นั่ง เปิดฉายเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2512 โดยภาพยนตร์เรื่อง สองสิงห์ตะลุยศึก (The Undefeated) หมดสัญญาในปี 2563 นี้

และแล้ว มันก็ถึงเวลาสำหรับโรงภาพยนตร์ standalone สุดท้ายในย่านสยามสแควร์ เมื่อวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2563 กลุ่มเอเพ็กซ์ได้จัดกิจกรรม “Final Touch of Memory 3-5 July 2020” ก่อนที่จะปิดตำนาน 51 ปี โดยเปิดไฟทั้งโรงภาพยนตร์เพื่อให้แฟนๆ ได้เก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก ตลอดสามวัน และจัดโปรแกรมฉายหนังครั้งสุดท้าย ในวันที่ 4-5 ก.ค. รอบ 12.00 น. “Blow Up” ภาพยนตร์ระทึกขวัญคลาสสิก รอบ 15.00 น. กับสารคดี 2 เรื่องควบ “The Scala” สารคดีว่าด้วยความรุ่งเรืองและร่วงโรยของการอุทิศตัวของคนทำงานในโรงหนังสกาลา และ “นิรันดร์ราตรี” สารคดีเชิงทดลองปี 2560 ที่ถ่ายทอดชีวิตของพนักงานฉายหนังของโรงหนังที่ต้องปิดตัวและถูกทำลายลง และ รอบ 18.00 น. “Cinema Paradiso” หนังอิตาลีชื่อดัง ที่เฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่และตรึงตราของภาพยนตร์ ราคาบัตรรอบละ 140 และ 160 ที่จุดจำหน่ายบัตรโรงภาพยนตร์สกาลา (จำกัดเพียงรอบละ 400 ที่นั่งเท่านั้น) และจำหน่ายเสื้อ T-shirt สีขาวและสีเทาสกรีนชื่อ Scala พร้อมกับรูปแบบบัตรโรงภาพยนตร์ และ 5/7/63 รอบสุดท้าย และถุงผ้า

นางนันทา ตันสัจจา ผู้บริหารโรงภาพยนตร์ในเครือ Apex ได้กล่าว หลังฉายภาพยนตร์รอบสุดท้าย ว่า “และแล้ววันนี้ก็มาถึง สกาลาได้รับใช้ทุกท่าน ให้ความสุขกับทุกคนเป็นเวลา 51 ปี วันนี้ ถึงเวลาที่เราจะต้องจากไป แต่เราขอจากไป ด้วยความทรงจำ ด้วยความสุข สถาปัตยกรรมสวยๆ ของเรา ขอให้ช่วยกันจดจำเอาไว้ ถ่ายรูปกันเยอะๆ เพราะจะไม่เห็นอีกแล้ว สกาลาก็ยังไม่ได้หายไปไหน เรายังจะให้ความสุขต่อไป แต่ไม่ใช่ที่นี่ เราจะย้ายไปที่สวนนงนุช”

นายกัมพล ตันสัจจา ผู้อำนวยการสวนนงนุชพัทยา เผยว่า “ตอนที่สร้างโรงภาพยนตร์สกาลา คุณพ่ออยากให้เป็นโรงหนังที่สวยที่สุดในประเทศไทย ต้องขอโทษที่เราจำเป็นต้องย้ายจากที่นี่ แต่ความทรงจำก็คงจะอยู่ในใจท่านทุกคน เราจะย้ายไปสวนนงนุช พัทยา และโรงหนังของผม ซึ่งยังไม่มีชื่อ 1,030 ที่นั่ง พร้อมให้ชมวัฒนธรรมไทย ขอบคุณที่มามองดูสิ่งสุดท้ายที่คุณพ่อสร้างไว้และคงจะอยู่ในความทรงจำของทุกคน ขอบคุณครับ”

จากนั้น ผู้ชมพร้อมใจกันปรบมือ ก่อนที่จะเดินออกหน้าทางเข้า ที่มีกลุ่มพนักงาน ใส่เสื้อสีเหลืองกับสกรีนเหมือนที่วางจำหน่าย ได้ยืนตั้งแถวรอกล่าวขอบคุณผู้ชม เพื่อเป็นการอำลาและเป็นการทำหน้าที่ครั้งสุดท้าย

หน้าโรงภาพยนตร์คึกคักมาก ตลอดสามวัน เต็มไปด้วยผู้คน สื่อต่างๆ ช่างภาพ YouTuber และ Vlogger ต่างเดินทางมาเก็บภาพและวีดีโอ ตั้งแต่เช้าจนค่ำ หรือปิดไฟหน้าป้ายชื่อ

โรงภาพยนตร์สกาลา มีคุณค่าทางจิตใต สถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ จนกระทั่งได้รับรางวัล “อนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2555” จากสมาคมสถาปนิกในพระบรมราชูปถัมภ์ เนื่องจากตัวอาคารได้รับการดูแลเป็นอย่างดี สวยงาม และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มายาวนานกว่า 50 ปี

โถงโรงภาพยนตร์สกาลาเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ยุคปลายผสมกับการประดับลวดลายแบบ Art Deco อย่างดาวเพดานเหล็กพับที่ติดอยู่บนโครงสร้างฝ้าคอนกรีต ไม้แกะสลักรูปพิณบนผนัง และภาพสําริดนูนต่ำ เหนือทางเข้า ส่วนพักคอยโรงภาพยนตร์ นอกจากนั้นยังมีโคมไฟระย้าทรงหยดนํ้าค้างแข็ง 5 ชั้นขนาดยักษ์ที่สั่งตรงจากอิตาลี

โรงภาพยนตร์สกาลา จะเหลือแค่เพียงความทรงจำ คาดว่าจะถูกทุบทิ้งสิ้นปีนี้ ขณะที่ของตกแต่งบางส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ของสกาลา รวมทั้งป้ายชื่อ จะถูกนำไปใช้ที่โรงละคร ณ สวนนงนุช พัทยา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *