Death Awareness Café ช่วยให้เข้าใจสัจธรรมของชีวิตมากขึ้น

ซอยอารีย์สัมพันธ์ กลายเป็นแหล่งแฮงก์เอาต์สำหรับเหล่าฮิปสเตอร์ที่มารับประทานอาหารในร้านอาหารหลากหลายชาติ หลากหลายสไตล์ และมาจิบเครื่องดื่มชิลๆ ที่ร้านคาเฟ่สุดชิค ที่หลายๆ คนไม่พลาดที่จะโพสภาพสวยๆ ลงโซเชียล

ขณะที่ MRBADBOY ได้เดินชิวๆ ในซอยอารีย์สัมพันธ์ 1 ซึ่งก็เรียงรายไปด้วยร้านอาหารและร้านคาเฟ่มากมายซอยหนึ่ง และก็ได้มาสะดุดชื่อของร้านคาเฟ่ร้านหนึ่ง คิดใหม่มรณานุสติคาเฟ่ หรือ Kid-Mai Death Awareness Cafe แล้วได้เกิดความสงสัยพร้อมกับการอยากรู้ว่า มันจะถูกออกแบบมาเป็นแบบไหน ขณะที่ชื่อค่อนข้างแปลกและน่ากลัว

ร้านกาแฟนี้ ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ของมูลนิธิบ้านอารีย์แต่อยู่ภายใต้บริษัท คิดใหม่ จำกัด ใช้โทนสีดำเพื่อให้เหมาะกับชื่อและมีหุ่นจำลองโครงกระดูกสีขาวยืนพิงคอยต้อนรับอยู่ด้านหน้า ขณะที่กำลังเผชิญหน้ากับเคาน์เตอร์กาแฟ ดูหลอนๆ ดี

น้องขนุน-ภิญญดา พิบูลย์ อายุ 23 ปี เป็นผู้จัดการคาเฟ่ ดูเรื่องนิทรรศการ เป็นบาริสต้าและเทรนเนอร์ด้วย ได้เล่าให้ฟังว่า “ที่นี่เกิดจากผลงานการวิจัยของผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา ผู้อำนวยการสถาบันคิดใหม่ที่พัฒนางานวิจัยเพื่อสาธารณะ ที่มีชื่อว่า “การนำกระบวนทรรศน์ปรัชญาหลังนวยุค และพุทธปรัชญา มาสร้างสังคมแห่งสัมมาปัญญาในประเทศไทย 4.0 (The Application of the Postmodern Philosophical Paradigm and Buddhist Philosophy for Creating Right Wisdom Society in Thailand 4.0) ให้เข้าใจง่ายๆก็คือ การนำหลักของพุทธศาสนามาให้เด็กยุคใหม่เข้าใจง่ายได้อย่างไร จากการวิจัย เราได้ทราบว่า เด็กสมัยนี้เข้าคาเฟ่บ่อย เพื่อที่จะไปแชะ แชร์ ชิม ชิล กัน เราก็เลยดึงเรื่องของคาเฟ่มาเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการของเรา บางคนคิดว่าที่นี่เป็นคาเฟ่ แต่จริงๆ แล้ว มันเริ่มจากนิทรรศการมาก่อน แล้วคาเฟ่ตามมาเพื่อดึงลูกค้า ส่วนใหญ่ลูกค้าก็จะเป็นน้องๆ วัยรุ่นและนักท่องเที่ยว เราได้ให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องของการใช้ชีวิตมากขึ้นด้วย ที่นี่ก็เลยได้ชื่อว่า คิดใหม่ death awareness cafe คิดใหม่เป็นชื่อของสถาบันการวิจัยของเรา ที่ทำงานการวิจัยต่างๆ ในเรื่องของผู้สูงอายุ ศาสนา และสังคมในประเทศไทย

“เราได้สืบหาข้อมูล มีสรุปผลของคนที่เซิร์ชใน google ด้วย นอกจากเด็กวัยรุ่นสมัยนี้เซิร์ชหา คาเฟ่ แล้วนึกถึงที่ไหน หนึ่งคือ สยาม สองคือ อารีย์ เราอยู่ย่านอารีย์พอดี เราก็เลยคิดว่า เครื่องมืออันนี้ เราน่าจะเอามาที่ดึงของเด็กนักท่องเที่ยวได้ และก็จริงนะ นักท่องเที่ยวเยอะมากและก็เด็กวัยรุ่นเข้ามาที่นี่เยอะเหมือนกัน ส่วนใหญ่ต่างชาติชอบในเรื่องของการพูดถึงเรื่องของความตาย เพราะว่ามันคือความจริงของชีวิต ขณะที่คนไทยอาจจะไม่อยากพูดถึงเรื่องของความตาย ในส่วนของงานวิจัย เรามีการแก้ปัญหาด้วยนะ สามปัญหาของสังคมไทย หนึ่งในเรื่องของคอรัปชั่น สองในเรื่องของคุณแม่วัยใส สามในเรื่องของอาชญากรรม ซึ่งคาเฟ่นี้เป็นเหมือนการเตือนสติให้อยู่ด้วยความไม่ประมาทให้รู้สึกว่าความตายควรที่คิดทุกวินาที มันจะทำให้เราคิดได้ว่าเราไม่ควรที่จะทำทั้งสามอย่างเหล่านี้เลย”

คิดใหม่มรณานุสติคาเฟ่ เปิดครั้งแรกในปี 2560 มีแค่โรงศพอย่างเดียวเท่านั้น สองปีต่อมา ได้มีการปรับปรุงพัฒนามากขึ้นให้เป็นโซนนิทรรศการ หลังจากนั้น คาเฟ่นี้ได้ feedback ดีมาก ได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศและ YouTuber ในปี 2563 นิทรรศการได้ถูกแบ่งออกเป็นห้องต่างๆ ของ เกิด แก่ เจ็บ ตาย พร้อมกับมีการปรับเครื่องดื่มให้สอดคล้องกับห้องเหล่านั้นด้วย

ผู้จัดการสาวสวย ได้อธิบายแต่ละเมนูให้ MRBADBOY ฟังว่า “เมนูเกิด เป็นสตรอว์เบอร์รี่ Italian soda ใส่เจลลี่ไปด้วย ความหมายของเจลลี่คือผนังมดลูกของแม่ ฟองของโซดาที่ค่อยๆ ผลุดขึ้นมาเปรียบเสมือนเป็นลมหายใจของเราที่กำลังจะออกจากท้องของแม่ และไข่มุกรสผลไม้เปรียนเสมือนเป็นรังไข่ ตัวข้างบนสุดเป็นเชอรรี่เปรียบเสมือนอสุจิ เหมือนเราได้เกิดแล้ว พอเราทานเมนูนี้แล้ว จะทำให้เรารู้สึกสดชื่นซาบซ่าว่า เราได้เกิดออกมาแล้วนะ

เมนูแก่ คือโกโก้ร้อนเป็นสูตรที่เข้มข้นผสมผสานเข้ากับนม เปรียนเสมือนกับประสบการณ์ชีวิตของเราที่ผ่านมาทั้งความขมและความเข้มข้น บวกกับนมที่เทลงไปเปรียนเสมือนความอ่อนเยาว์ที่ร่วงโรย เรามีใส่มาร์ชเมลโล่ลงไปด้วยมันจะละลายเปรียบเสมือนร่างกายของเราค่อยๅ เสื่อมสลายลงไป ตามกาลเวลา เมนูนี้ทำให้เราจิบช้าๆ เพราะว่า มันร้อนเหมือนระลึกถึงเรื่องของความหลัง

เมนูเจ็บ ให้ความรู้สึกว่า แค่เห็นก็เจ็บแล้ว มันหวานเหลือเกิน ข้างล่างเราใส่เจลลี่ลงไปเปรียบเสมือนสภาพจิตใจที่อ่อนแอนั่นเอง และตามด้วยวิปครีม แครกเกอร์ลงไป สตรอว์เบอร์รี่ และราดซ้อส ซ้อสที่แทรกซึมลงไปในแครกเกอร์ที่แตกหักเปรียบเสมือนกระดูกของเรากำลังเสื่อม หรือร่างกายได้รับบาดเจ็บนั่นเอง ปิดท้ายด้วยวิปครีมและไซริงค์ยาลงไป ในไซริงค์ยามีซ้อสสตรอว์เบอร์รี่ เหมือนกับการให้เลือดรักษาร่างกายของเรานั่นเอง เมนูจะขายดีในหมู่นักเรียนจะชอบมาก รสชาติจะคล้ายๆ คัพเค้กสตรอเบอร์รี่นั่นเอง

เมนูตาย เป็นเมนูยอดฮิตของเรา เราจะมีคำพูดว่า ตายได้แล้วค่ะ ลูกค้าก็จะสะดุ้ง เมนูนี้จะเป็นโกโก้ปั่น ความขมเข้มข้นของโกโก้กับความเย็นที่เราไปปั่น เราจะบอกว่า ความตายไม่ใช่เรื่องอันหอมหวานอีกต่อไป มันเป็นเรื่องของสภาพจิตใจที่เรารู้สึกขมขื่น เราเติมวิปครีม โอริโอ้ และป๊อกกี้ ตรงกลาง เปรียบเสมือนธูปหนึ่งดอกในงานศพของเรา เราจะมีการราดซ้อสวนเป็นสามรอบ เหมือนกับการทำพิธีคือการเดินรอบเมรุ”

สี่เมนูนี้เป็น signature ของคาเฟ่นี้ ใครสั่งหนึ่งในสี่เมนูก็จะสามารถเข้าชมนิทรรศการได้ทุกห้อง บาริสต้า น้องขนุน ได้เลือก เมนูตาย ให้กับ MRBADBOY ได้ลอง คล้ายๆ จะบอกเป็นนัยอะไรสักอย่าง อย่างไรก็ตาม ขอมีชีวิตอยู่ต่ออีกสักพักละกัน

จริงๆ แล้ว ทางเข้าของ คิดใหม่มรณานุสติคาเฟ่ อยู่ฝั่งถนนพหลโยธิน ใกล้ๆ กับทางลงจาก BTS สถานีอารีย์ คล้ายๆ อุโมงค์สีดำที่ถูกประดับไปด้วยป้ายไฟกับข้อความต่างๆ ว่า “วันนี้คุณเหนื่อยไหม?”, “มีใครสักคนกำลังคุณอยู่หรือเปล่า?”, “อะไรที่คุณอยากทำแต่ไม่มีโอกาสได้ทำ?”, “คุณกำลังทำงานหนักเพื่ออะไร?”, “เป้าหมายของชีวิตคุณคืออะไร?” พร้อมๆ กับข้อความที่อยู่ตรงทางเดินว่า “ชีวิตที่มี และไม่มี ความหมาย” หรือ “ได้ทำหรือยังไม่ได้ทำ สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตแล้ว”

อุโมงค์ได้ถูกจำลองมาจากสะพานมาโป (Mapo Bridge สะพานข้ามแม่น้ำฮันในกรุงโซล ประเทศเกาหลี มีอีกชื่อหนึ่งที่หลายคนเรียกว่า “Bridge of Life” สะพานแห่งชีวิต) ที่คนเกาหลีมากระโดดเพื่อฆ่าตัวตายมากที่สุด ปีละเกือบร้อยศพ ทางรัฐบาลและบริษัทเอกชนหลายรายในเกาหลี ร่วมกันปรับปรุงสะพานแห่งนี้ใหม่ โดยทำทุกทางเพื่อที่คนจะได้ไม่ไปคิดสั้นบนนั้นอีก สิ่งที่ทำก็เริ่มตั้งแต่ทาสีขอบสะพานเป็นสีขาว แล้วเขียนข้อความให้กำลังใจ เช่น “ช่วงเวลาที่สดใสที่สุดในชีวิตกำลังรอคุณอยู่” “ความกังวลของคุณจะหมดไปเมื่อคุณแก่ตัวขึ้น”  “ช่วงเวลาที่ยากลำบากจะลอยผ่านไปเหมือนน้ำข้างล่างนี้นี่แหล่ะ” ทำตู้โทรศัพท์ ยกหูปุ๊บได้ปรึกษากับจิตรแพทย์เลย ทำรูปปั้น ให้คนคิดถึงช่วงเวลาแก่เฒ่ากับช่วงเวลาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

น้องขนุน พูดว่า “เมื่อเรามองกลับไป จะเห็นความวุ่นวายภายนอก เห็นรถรา ได้ยินเสียงบีบแตร เสียงคนคุยกันเสียงดังมาก พอเข้ามาในอุโมงค์มันมีแต่ความเงียบ เหมือนเราได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น ได้ทบทวนเรื่องที่เราไม่ได้คิด”

พอผ่านอุโมงค์เข้ามาแล้ว ก็จะเจอคาเฟ่ ทางเข้าโซนนิทรรศการจะมี คุณผลัดวัน เป็นโครงกระดูกที่คอยต้อนรับ มีสโลแกนด้วยว่าทำใมชื่อผลัดวัน คือ ที่นัดกินข้าวกับคุณแม่ไว้ขอเลื่อนไปเป็นวันพรุ่งนี้ละกัน เลื่อนจนเขาไม่ได้มีโอกาสไปกินข้าวกับคุณแม่ และเขาก็มีถือป้ายว่า ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท สุดท้ายเขาบอกไม่ทันแล้ว

ขณะที่เดินตามทางที่กำหนด MRBADBOY ได้ผ่านกระจกวงกลมหลายบานระหว่างทางเดิน และมีป้ายคำพูด การให้กำลังใจ ซึ่งตรงนี้เปรียบเสมือนพวงหรีด และกระจกสะท้อนว่า สุดท้ายแล้วเราก็ต้องอยู่ในกรอบรูปงานศพเราอยู่ดี

เรามาหยุดตรงที่ห้องสีแดงคือห้องเกิด กับข้อความว่า การเกิดเป็นทุกข์ น้องขนุน อธิบายให้ฟังว่า “เรารู้สึกได้ตั้งแต่เราอยู่ในท้อง เราจะได้ยินว่าถ้าคุณแม่อารมณ์ดี ลูกก็จะอารมณ์ดี แต่พอเราออกมาเราจำความไม่ได้ เราได้ทดลองให้คนนอนคุดคู้ในเปล เขาจะได้รู้สึกว่ามันอึดอัด ร้อนมาก เพราะว่า ห้องนี้ไม่มีแอร์ เรามีการใช้แสงเข้ามาทำให้เขารู้สึกว่า เปรียบเสมือนว่า คุณแม่อยากกินของเผ็ดร้อน แสงนี้ทำให้เรารู้สึกแสบผิวเหลือเกินบวกกับความร้อนด้วย เรารู้สึกทรมานมากตอนที่เรานอนในเปล ม้นเหมือนกับเราอยู่ในท้องแม่ ทรมานมั้ย เป็นทุกข์หรือยัง 9 เดือนที่คุณเป็นทุกข์อยู่ในท้องแม่ วันนี้คุณได้คลอดออกมาแล้ว ใช้ชีวิตข้างนอกแล้ว คุณควรจะวางเป้าหมายอะไร ใช้ชีวิตให้คุ้มและอยู่ภายใต้ความไม่ประมาทนั่นเอง ห้องนี้ทำให้คนได้ฉุกคิดขึ้นมาได้ หลังจากเคยคิดฆ่าตัวตาย ชีวิตไร้ค่ามากเลย”

มีทางเดินขึ้นไปแบบค่อนข้างชัน เพื่อจะไปเปิดประสบการณ์แก่ โดยเริ่มทดสอบตั้งแต่บันไดขึ้นไป น้องขนุนเล่าต่อว่า “เราทดสอบว่า ตอนนี้คุณขึ้นบันได คุณยังเหนื่อยหรือเปล่า ถ้าเหนื่อย นั่นคือว่าเราต้องเริ่มดูแลสุขภาพแล้ว ขึ้นไปข้างบนจะเป็นพื้นสนามสีเขียวเปิดกว้าง และจะมีหุ่นชื่อ ตาชด เขาจะแต่งชุดและองค์ประกอบต่างๆ เหมือนคนแก่ ใส่วิกผม ใส่แว่นตา และมีไม้เท้าคู่กาย สวมชุดม่อฮ่อม ซึ่งเราจำลองมาให้เหมือนกับกายภาพของผู้สูงอายุนั่นเอง ตั้งแต่เหล็กดัดหลัง จนถึงถ่วงน้ำหนักรอบข้างๆ เอว รวมถึงกางเกงจะมีเหล็กดัดตรงข้อเท้าอยู่ เปรียบเทียบกับคนแก่ คือเขาไม่สามารถยกขาได้สุด พับขาได้เต็มที่ เหมือนสมัยวัยรุ่น ซึ่งตรงนี้จะทำให้เราได้เข้าใจกายภาพของผู้สูงอายุมากขึ้น มีการใส่ถ่วงน้ำหนักตรงข้อแขนข้อขา เพื่อที่จะทำให้เราได้เข้าใจว่า ทำใมผู้สูงอายุมือสั่น ขาสั่น ซึ่งตรงนี้ พอน้องๆ ได้สวมชุดและอุปกรณ์เหล่านี้ เราจะให้น้องๆ ได้เดินตรงลู่ที่เรากำหนด จะมีทางให้หมุนตัวเป็นเลข 8 และให้ก้าวสิ่งกีดขวาง และให้เดินหมุนกลับมา ลองดูว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง น้องๆ บอกว่า พอใส่ชุดแล้ว เรารู้สึกหนักอึ้ง เหมือนเราจะล้มตลอดเวลา ดังนั้นเราต้องมีลูกหลานดูแล และมีไม้เท้าช่วยประคับประคอง น้องๆ จะได้รู้ว่า ทำใมผู้สูงอายุเดินช้า ใช้ให้เราไปหยิบของ

“ต่อมา เราต้องเข้าใจเรื่องสายตาของผู้สูงอายุด้วย ซึ่งเราจะมีแว่นตาที่แยกยา เราจะได้ยินคุณตาคุณยายเรียกให้มาแยกยาให้ อ่านว่าอะไร สีอะไร แว่นตาเราได้จำลองมาจากสายตาผู้สูงอายุกับสายตาฝ้าฟาง เราปรับสีแว่นให้มีความมัวและเป็นสีเหลืองและมีตัดขอบเลนส์ สายตาเราจะสามารถมองเห็นเป็นพาโนรามาได้ แต่เลนส์ของผู้สูงอายุจะแคบลง ปรากฎว่า น้องๆ ที่ใส่แว่นนี้ แยกยาช้ามาก 15 นาทีผ่านไป เราก็ถามว่าอันนี้สีอะไร ตอบผิดกันหมดเลย เพราะว่าสายตามันผิดเพี้ยนไปแล้ว มองสีชมพูเป็นสีส้ม สีแดงเป็นสีม่วง สีเขียวเป็นสีฟ้าหรือสีน้ำเงิน ในโซนนี้ น้องๆ วัยรุ่นจะชอบมาก เพราะว่า เขาจะได้รู้ว่าทำใมคุณพ่อคุณแม่ หรือคุณตาคุณยาย ชอบใช้หนู วันนี้เขาได้คำตอบจากผลที่เขาได้เจอกับตัวเองนั่นเอง อันนี้จะพูดถึงความไม่ประมาท การอยู่ร่วมกัน ไม้เท้าสำคัญมากกับการเดิน”

เดินลงมาที่ห้องเจ็บกับกลิ่นอายของแอลกอฮอล์ คล้ายๆ กลิ่นในโรงพยาบาลนั่นเอง จะประกอบไปด้วยเตียงนอน วิลแชร์ เสื้อเตรียมตัวป่วย “เราจะมาลองเป็นคนป่วยจริงๆ และเราได้วางแผนชีวิตหรือยัง พร้อมที่จะป่วยหรือยัง ทิ้งภาระอะไรไว้ให้คนข้างหลังไว้หรือเปล่า ห้องนี้ จะเป็นการวางแผนชีวิต ช่วงวิกฤตสุดท้ายของเรานั่นเอง ภาระที่อยู่ตรงหน้านี้ที่เรามองเห็นเป็นซองจดหมาย เกี่ยวกับค่ารถ ค่าบ้าน ค่าโรงเรียน ค่านม ค่าน้่ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ใครจะเป็นคนจ่าย ขณะที่เรานอนโรงพยาบาล ห้องนี้จะมีเครื่องมือที่จะทำให้ภาระตรงนี้ได้เบาลง ก็คือ หนึ่ง สมุดเบาใจ เป็นพินัยกรรมชีวิต ในช่วงสุดท้่ายของเรานั่นเอง ทำให้เราตายดี และคนรอบข้างของเราสบายใจ เราจะมีแคตตาล็อกของการทำพินัยกรรม มรดก การบริจาคร่างกาย และการจัดการงานศพ

“สมุดเบาใจ เราจะมีการเขียนว่า เป็นของใคร นิสัยใจคอของเจ้าของสมุดเบาใจเป็นอย่างไร ทำใมต้องเขียนด้วย บางที วันนั้น ที่เรากำลังนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล เราอาจจะจำไม่ได้ว่าเราเป็นใคร ญาติจะได้เอาสมุดเล่มนี้ให้อ่านว่าเราเป็นใคร เราได้วางแผนชีวิตไว้แล้วนะ เป็นการย้ำเตือนตัวเองอีกครั้งหนึ่ง เปิดหน้าถัดไป จะเป็นคำถาม ความต้องการของเราในช่วงสุดท้ายของชีวิต ตรงนี้เป็นอะไรที่สำคัญมาก เพราะว่า สมุดเบาใจอิงกับกฎหมายเช่นกัน เราอาจจะเขียนว่า จะให้แพทย์ยื้อชีวิตเราหรือไม่ คำถามอื่นๆก็เกี่ยวกับว่า เราอยากจะบอกอะไรกับคนใกล้ชิดบ้าง เวลาญาติอ่านจะได้ให้ความรู้สึกว่ากำลังพูดกับเขาตลอดเวลา จะมีเรื่องของการจัดการงานศพด้วยนะ จะมีเขียนว่า คุณต้องการจัดการงานศพหรือไม่่ หรือต้องการบริจาคร่างกาย การจัดการงานศพก็เป็นภาระด้วยเหมือนกัน เราต้องจัดการไม่ต้่องเป็นภาระกับญาติๆ ของเรา สมุดเบาใจ ได้เป็นการบอกกล่าวญาติแล้วในช่วงวิกฤต มีการทำพินัยกรรมด้วย เรามีทรัพย์สินอะไรบ้าง มีมรดกอะไรบ้าง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน เป็นประเด็นสำคัญมากในเรื่องของมรดก ถ้าเราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่ลูกหลานมาผิดใจกันหรือทะเลาะกันเรื่องเงิน การทำพินัยกรรมเป็นการแสดงเจตจำนงชัดเจนแล้วว่าจะยกอะไรให้ใครบ้าง

“ห้องนี้จะโยงเข้าห้องจัดงานศพหรือ ห้องตาย เราจะมาอยู่กับจิตใจเราเองแล้วว่า ไม่มีใครที่จะตายไปพร้อมกับเรานะ เกิดเราใช้ชีวิตร่วมกับแม่ แก่เราใช้ชีวิตกับลูกหลาน เจ็บเราอยู่กับคุณหมอช่วยรักษา ก่อนที่เราจะตาย เราได้ทำเป้าหมายของเราสำเร็จหรือยัง ห้องนี้จะทำให้เรารู้สึกว่า วินาทีของเราเริ่มเหลือน้อยลง เราจะได้ยินว่า ไม่เห็นโรงศพ ไม่หลั่งน้ำตา เราสามารถไปนอนในโรงได้จริงๆ 3-5 นาที เราได้ผ่านทุกวัฏจักรมาแล้ว และรู้สึกว่า ชีวิตเราสั้นแค่นี้เอง เราควรรีบลงมือทำแล้ว พอออกมาจากโรงศพแล้ว เราจะมีสมุดคำปฏิญาณอยู่ข้างๆ จะให้เราเขียนว่า ขณะที่นอนในโรงศพ เราจะทำอะไรบ้างเป็นลิสต์รายชื่อออกมา และจะทำสำเร็จได้เมื่อไหร่ ให้เขียนระบุไปด้วย แล้วก็ดูกันว่า พอถึงวันนั้น ผลจะออกมาเป็นอย่างไร เราได้บรรลุเป้าหมายหรือยัง

“เรามีอีกห้องที่อยู่ข้างๆ คาเฟ่ หลังจากความตายของเรา ก็คือห้องอสุภะ เป็นภาษาบาลี อะ แปลว่าไม่ สุภะ แปลว่าสวย ดังนั้น อสุภะก็คือ ไม่สวยไม่งาม นั่นเอง เข้ามาตกใจแน่นอน เป็นห้องพิจารณาซากศพคือร่างกายของเราหลังความตาย ห้องนี้จะมีหุ่นจำลองชื่อว่า ครูสมศรี ให้ความรู้ว่า สุดท้ายแล้ว ร่างกายชของเราเมื่อดับไป ก็จะเป็นแบบนี้แหละ เราควรจะปลงกับสิ่งที่เราคิดว่า ไม่อยากแก่เลย เคยเจอเคสล่าสุด ที่บอกว่า หนูขอตายก่อนอายุ 30 เรารู้สึกเสียดายแทนเขา เขาเห็นคุณพ่อคุณแม่ปวดเหมื่อย เขาดูแก่ ไม่อยากให้ตัวเองเป็นแบบนั้น ขอตายก่อนดีกว่า เดี๋ยวจะฆ่าตัวตาย หลังจากเข้ามาในห้องแก่ น้องก็บอกว่า เขาไม่อยากเป็นแบบนี้ สุดท้าย ห้องนี้จะทำให้เราเบามากขึ้น เราลดกิเลสในตัวเอง ลดความต้องการของตัวเอง”

ใกล้ๆ กับทางเข้านิทรรศการ จะมีห้องจองจำ มีอีกชื่อว่า ห้องราหุล ราหุลเป็นลูกชายของพระพุทธเจ้า ราหุลคือบ่วงที่กำลังรัดเราไว้ “เราจำลองห้องนี้ให้เหมือนกับคุก มีโซ่ตรวน มีชุดนักโทษ เข้าไปแล้วทำให้เรารู้สึกหดหู่ ในห้องนี้มีสามประตู บานแรกเป็นครอบครัว บานที่สองเกี่ยวกับหน้าที่การงาน มีงานทำ มีชื่อเสียง มีการไต่ตำแหน่ง ยุคนี้เป็นยุคของคนที่อยากดัง ยุคที่แล้วต้องรวยทำงานเก็บเงิน เดี๋ยวเงินก็มา ทุกอย่างเพียบพร้อม เช่น เน็ตไอดอล หรือ YouTuber ซึ่งบางทีเราชอบมองในเรื่องที่เขาประสบความสำเร็จแล้ว แต่ก่อนที่เขาจะประสบความสำเร็จ เขาผ่านช่วงวิกฤตอะไรมาบ้าง เราอยากจะเตือนสติน้องๆ หนูไม่อยากทำอะไร ไปถ่ายคลิปเป็น YouTuber เดี๋ยวก็ดังแล้ว เดี๋ยวเงินก็มา เรากำลังมองคนที่ประสบความสำเร็จ แต่เราไม่เคยมองว่า กว่าที่เขาจะประสบความสำเร็จ และก็มีอีกหลายคนที่ทำแล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จ พอเรามีงานแล้ว จะโยงไปที่ทรัพย์สินและเงินในประตูที่สาม พอเรามีเงินแล้ว เราดูแลครอบครัวได้ ทุกอย่างชีวิตเหมือนราบรื่นไปได้ดี เราก็จะมาเรื่องอัพเกรดตัวเอง ก็คือกระเป๋าแบรนด์เนมที่เราถือ รถที่ใช้ บ้านที่เคยอยู่ มันเป็นบ่วงที่เรากำลังโดนสังคมกำลังตีตรา ถ้าคุณไม่ทำงานอัพเกรดตัวเอง คุณจะเข้าสังคมเราไม่ได้ เราอยากให้มองว่าทุกคนมีคุณค่าในตัวเองเท่ากัน ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันหมด แต่โดนสังคมครอบงำ อย่ายึดติด อย่ามองคนจากภายนอกนั่นเอง”

น้องขนุน ได้สรุปว่า เชื่อว่า พอใครได้ใช้ชีวิตกับตัวเองมากขึ้น มันเหมือนมีพลังมากขึ้น หรือมีสติมากขึ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *