“ศิลปะสิ่งทอเพื่อความยั่งยืน” ที่อาร์ตแฟร์ฮ่องกง

วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี จะจัดแสดงนิทรรศการ “Transcend” ของ จารุพัชร อาชวะสมิต งานศิลปะสิ่งทอที่มีจุดมุ่งหมายด้านการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ที่บูธ B03 ในอาร์ตแฟร์ Art Central Hong Kong ที่ Central Harbourfront ระหว่างวันที่ 28 ถึง 31 มีนาคม ในช่วงสัปดาห์ศิลปะประจำปีของฮ่องกง หรือ Hong Kong Art Week ในเดือนมีนาคม 2567

จารุพัชร ไม่เพียงแต่หยิบวัสดุที่มีความยั่งยืนมาใช้ แต่ยังให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนรีไซเคิลสิ่งของเหลือใช้ ให้กลายเป็นวัสดุพร้อมใช้ จารุพัชรทำงานร่วมกับทีมวิจัยและพัฒนาเพื่อแปรรูปเศษโลหะเช่น สแตนเลส ทองแดง และทองเหลือง เป็นผ้าโลหะที่สามารถนำมาใช้งานได้ และยังร่วมมือกับองค์กรด้านการรีไซเคิลที่ผลิตเส้นด้ายจากขวดพลาสติก PET นอกจากนี้จารุพัชรยังทำงานร่วมกับทีมเก็บขยะในพื้นที่ เธอเก็บและทำความสะอาดซากถุงปุ๋ยที่ถูกน้ำทะเลซัดมาที่ชายหาดหัวหิน เธอแยกเส้นพลาสติกออกมาทีละเส้นอย่างระมัดระวัง และนำเส้นใยนั้นไปทอร่วมกับวัสดุอื่นเพื่อเป็นผลงานศิลปะ

ผู้เข้าชมจะได้พบกับชิ้นงานศิลปะสิ่งทอขนาดใหญ่ 2 ชิ้นที่มีชื่อว่า “Colony” และ “Mutation” วัสดุหลักของผลงานสองชิ้นนี้คือภาพถ่ายบนผ้าใบขนาดมหึมาที่ได้เคยจัดแสดงที่วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี เป็นผลงานของสาครินทร์ เครืออ่อน ซึ่งเป็นศิลปินร่วมสมัยระดับแนวหน้าของไทย ผลงานเดิมเป็นศิลปะเฉพาะพื้นที่และได้ทำหน้าที่ของมันจบสิ้นแล้ว และกำลังจะกลายเป็นขยะ จารุพัชรได้ตัดชิ้นงานเดิมนี้เป็นเส้น เคลือบด้านหลังด้วยผงทองแดง จากนั้นจึงนำไปทอร่วมกับผ้าโลหะและเส้นด้ายพลาสติก PET รีไซเคิล ด้วยการปรับเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์เช่นนี้ จารุพัชรได้สร้างผลงานศิลปะประติมากรรมผ้าที่ลอยตัวอยู่กลางอากาศและสะท้อนแสงไฟจนเปล่งประกายแวววาวจากวัสดุโลหะรีไซเคิล

ผลงานชุดใหม่ชื่อ “Transcend” ถูกทอขึ้นจากเส้นพลาสติกจำนวนนับไม่ถ้วนจากขยะถุงปุ๋ยที่ถูกชะล้างจนซีดขาว จนกลายเป็นศิลปะสิ่งทอชิ้นยาวที่ดูเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยรายละเอียด ถุงปุ๋ยเหล่านี้สามารถพบได้ทั่วไปในประเทศที่ระบบเศรษฐกิจพึ่งพาการเกษตร ทั้งในประเทศไทยและทั่วภูมิภาคเอเชีย และมีจำนวนไม่น้อยที่ไหลลงมาพร้อมแม่น้ำจนจบลงที่ก้นทะเล กลายเป็นขยะในมหาสมุทรและเป็นอันตรายต่อชีวิตในทะเล ผลงานศิลปะของจารุพัชรเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการจัดการขยะ และการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนสามารถทำได้จริงในวงการสร้างสรรค์ศิลปะเมื่อมีการผนวกความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และวิสัยทัศน์เชิงศิลปะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *