“Not Alone” ความทรงจำอันเจ็บปวดของ “Rose”

โครงการ “Not Alone – Now Myanmar Rose’s screams can be heard and seen…” หรือ “กรรมกุหลาบ” โดยศิลปิน Myanmar Rose ร่วมกับศิลปินไทย อาทิ จิระนันท์ พิตรปรีชา โสภิรัตน์ ม่วงคำ นพวรรณ สิริเวชกุล พรรณชญา นิษฐ์วัชรรัตน์ มะลิวัลย์ ทรายหงส์ และ ลัดดา คงเดช สื่อถึงการพิทักษ์สิทธิสตรีในมนุษยธรรมจากความโหดร้ายรุนแรง การคุกคามทางเพศ และตระหนักให้เห็นคุณค่าในความเป็นผู้หญิง จัดขึ้น ณ ห้องเอนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 8 มีนาคม 2566 วันสตรีสากล

“กรรมกุหลาบ” ผลงานของ โรส ถ่ายทอดจากความทรงจำอันเจ็บปวด เพื่อระบายความรู้สึกที่เก็บไว้ตั้งแต่ในวัยเด็ก ที่ถูกข่มขืนกระทำชำเรา ใช้แรงงาน ฯลฯ ผลงานของเธอมีความจริงใจ บริสุทธิ์ เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดบนกระดาษและผืนผ้าใบ เหมือนดั่งเสียงของเธอ ที่โลกนี้ควรได้ยิน เมื่อความรวดร้าวสะท้อนได้แต่ในอก แม้เสียงเพรียกหาหาความสุขก็ไม่อาจเปล่ง หรือกล่าวออกจากปากที่เหมือนถูกปิดด้วยโซ่ตรวนทางเพศ และความทรงจำอันเจ็บปวด จะมีใครที่หยิบยื่นโอกาส จะมีใครมาซับน้ำตาที่ไหลรินได้เพียงข้างใน นรกที่มีอยู่จริงของดอกไม้ที่แสนงดงามกลับถูกบ่วงกรรมให้ติดอยู่กับตราบาป ความใคร่ที่ปราศจากความรัก และความรุนแรงที่กดซ้ำความรู้สึกซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกินจะเอ่ยถึงความบอบช้ำ สตรีมิใช่แค่ที่รองรับอารมณ์ทางเพศ ไม่ใช่ที่รองรับความรู้สึกข่มเหง หยุดการกระทำอันเลวร้ายเหล่านี้ซ้ำซากด้วยการข่มขืนและความรุนแรงเถิด แล้วมาตระหนักถึงคุณค่าของผู้หญิงเพศแม่ ความรักจะทำให้ดอกกุหลาบงามไม่ต้องบอบซ้ำและซ้ำซากกับอารมณ์เถื่อนอีกต่อไป

ภายในงานแสดงศิลปะของ Myanmar Rose เราจะถูกห้อมล้อมด้วยความเจ็บปวดจากการสิ้นหวังประหนึ่งการฆ่าตัวตาย ความอยุติธรรมที่ไร้มนุษยธรรมอันเลวร้ายที่สุดของมนุษยชาติ… และเรายังจะได้รับพลังจากกำลังใจในชัยชนะของจิตวิญญาณของผู้หญิง ความกล้าหาญ ความมุ่งมั่น ความทรหด ความคิดสร้างสรรค์กำลังเบ่งบาน…ในวันสตรีสากล คุณจะอยากไปที่ไหนได้อีกนอกจากมาอยู่ร่วมกันเพื่อแสดงพลังท่ามกลางการรับรู้ความรู้สึกของผลงานศิลปะที่สะท้อนชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่ได้อยู่เดียวดายอีกต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *