เที่ยวชุมชนนวัตวิถี อำเภอสหัสขันธ์

บอกตามตรงเลยว่า ไม่เคยรู้จักและไม่เคยไปอำเภอสหัสขันธ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอำเภอของจังหวัดกาฬสินธุ์มาก่อนเลย ถึงแม้ว่าเคยไปจว. นี้มาตอนช่วงวัยละอ่อน จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ MRBADBOY ก็ได้มีโอกาสไปร่วมทริป 2 วัน 1 คืน ในรูปแบบของการท่องเที่ยวชุมชนนวัตวิถี

หลังจากลงเครื่องบินที่สนามบินจังหวัดขอนแก่น เราก็นั่งรถตู้มุ่งหน้าสู่จังหวัดกาฬสินธุ์ และอำเภอสหัสขันธ์ที่เป็นเป้าหมายของเรา ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตรกว่าๆ ก่อนที่จะหยุดที่ เขื่อนลำปาว เป็น Destination แรก เป็นเขื่อนดินขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นแหล่งการประมงและการเกษตรที่สำคัญของกาฬสินธุ์ และยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนกาฬสินธุ์อีกด้วยที่นี่

อำเภอสหัสขันธ์ มีวัดที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวชุมชนนวัตวิถี 4 แห่งคือ วัดเวฬุวัน วัดป่าสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) วัดพุทธาวาส (ภูสิงห์) และวัดพุทธนิมิต (ภูค่าว) ประมาณร้อยละ 70-80 เป็นนักท่องเที่ยวที่มาจากสายธรรม ที่มาท่องเที่ยวไหว้พระได้ตลอดทั้งปี

วัดแรกที่ MRBADBOY ได้เยี่ยมชมคือ วัดเวฬุวัน ชื่อเดิมคือวัดแก้งคำ และได้สักการะองค์พระพุทธเจดีย์ศรีสัตตราช หรือหลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ ที่เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกองค์จำลอง มีพุทธลักษณะคล้ายศิลปะเชียงแสน ขนาดหน้าตัก 89 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปที่มี งูใหญ่ 7 ตัว 7 หัว แผ่คลุมองค์พระ ซึ่งไม่เหมือนกับพระพุทธรูปปางนาคปรกโดยทั่วไปที่มีพญานาค 1 ตัว 7 หัว

ไม่ไกลจากวัดนัก เราก็เดินทางมาถึงสวนไดโนเสาร์ หรือ Kalasin Dinosaur Park ซึ่งทางจังหวัดกาฬสินธุ์จัดทำเป็นสวนสาธารณะไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว MRBADBOY ได้สนุกสนานกับการถ่ายภาพกับไดโนเสาร์ขนาดเท่าตัวจริงนับสิบตัว หลากหลายสายพันธุ์ เช่น ไทรเซราทอปส์ (Triceratops) ซอโรพอด (Sauropod) ทีเร็กซ์ (Tyrannosaurus, T-Rex) และแรปเตอร์ (Velociraptor, Raptor) บรรยากาศเหมือนกำลังอยู่ในหนังเรื่อง จูราสสิค พาร์ค (Jurassic Park)

MRBADBOY ได้มีโอกาสเห็นวิธีการทอผ้าไหมแพรวา ซึ่งเป็นผ้าทอมืออันเป็นเอกลักษณ์ของชาวภูไท ที่บ้านสิงห์สะอาด ผ้าแพรวาเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มชนที่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มภูไท ซึ่งใช้ในโอกาสที่มีงานเทศกาลบุญประเพณีหรืองานสำคัญต่างๆ ลวดลายของแพรวามีลักษณะคล้ายคลึงกับลายขิดอีสาน แตกต่างกันอยู่บ้างที่ ความหลากหลายของสีสันในแต่ละลวดลาย

แล้วมาต่อที่วัดพุทธนิมิตร หรือวัดภูค่าว ที่มีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง อย่างแรกเลยคือ พระพุทธไสยาสน์ภูค่าว เป็นพระนอนปางไสยาสน์ มีพระเศียรหนุนทับต้นแขน นอนตะแคงซ้ายไม่มีเกตุมาลา เป็นลักษณะของพระโมคคัลลานะ พระสาวกองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้า ตามประวัติกล่าวว่าพระโมคัลลานะ พระสาวกของพระพุทธเจ้าสร้างขึ้นเมื่อ 2,000 กว่าปีมาแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจอย่างที่สองคือ วิหารสังฆนิมิตร ใกล้ทางไปพระนอน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็กจำนวนมาก และบริเวณผนังเรื่อยขึ้นไปถึงเพดานมีพระเครื่องต่าง ๆ นับพันองค์ติดประดับอยู่ดูสวยงามน่าตื่นตา พระเครื่องที่นำมาเก็บไว้ที่นี่ เป็นพระเครื่องชั้นยอดทั้งสิ้น โดยมีการติดพระเครื่องไว้รายรอบทั้งดาดฟ้าเพดาน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลก ที่ไม่มีวัดที่ไหนทำมาก่อน

ระหว่างทางเดินที่จะไปต่อกันที่โบสถ์ไม้ เราเดินลอดซุ้มไม้ไผ่ และได้เห็นฝูงนกยูงอยู่หลายสิบตัว และบางตัวกำลังรำแพน ออกท่าทางสวยงาม และก็กวาง ที่ถูกเลี้ยงแบบธรรมชาติ

พระอุโบสถ ถูกสร้างพ.ศ. 2540 แล้วเสร็จพ.ศ. 2542 งบประมาณสร้าง 42 ล้านบาท ณ ตอนนี้ประเมินค่ามิได้แล้วเพราะเป็นไม้หายาก ไม้ประดู่ ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ชิงชัง ไม้พะยูง ไม้ตะเคียนก็มี เป็นศิลปะอุโบสถเปิดของภาคกลางและภาคเหนือประยุกต์ ไม่ใช่ทางภาคอีสาน ด้านบนแกะสลักประวัติของพระพุทธเจ้า พระเวสสันดร กัณหาชาลี ภายในโบสถ์ประดิษฐานพระมงคลชัยสิทธิ์โรจนฤทธิประสิทธิพร เป็นพระประธานปางตรัสรู้หรือปางสมาธิสีทองสุกอร่าม

สิ่งที่น่าสนใจต่อไปคือ เจดีย์ สร้าง พ.ศ.2538 เสร็จปี 2553 ด้วยหินศิลาแลงจากสุรินทร์และบุรีรัมย์ สูง 80 เมตร ประตูทางเข้าพระธาตุเจดีย์ เป็นไม้แผ่นชิ้นเดียวขนาดใหญ่แกะสลัก พื้นปูด้วยไม้แผ่นขนาดใหญ่ ตรงกลางเป็นที่ประดิษฐานของ “พระพุทธนิมิตเหล็กไหล” ทั้งองค์มีเนื้อสีดำ ประทับอยู่บนฐานไม้

ติดกับพระธาตุเจดีย์ เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่มาก 4 องค์หันไป 4 ทิศทาง แต่ละองค์ก็มีอิริยาบถต่างกัน เช่น นั่ง ยืน นอน เดิน เป็นศิลปะแบบขอม ใช้หินศิลาแลงจากสุรินทร์

ออกจากวัดภูค่าวบ่ายแก่ๆแล้ว MRBADBOY ขึ้นรถชมเมืองข้ามสะพานเทพสุดา เป็นสะพานข้ามน้ำจืดที่ยาวที่สุดในประเทศไทยกับระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกด้วย เป็นจุดถ่ายรูปที่น่าสนใจจุดหนึ่งเหมาะกับการถ่ายภาพแบบซิลลูเอท ที่มองเห็นสะพานทอดยาวบนผืนน้ำลำปาว พร้อมกับประติมากรรมรูปหล่อไดโนเสาร์ ที่เป็นสัญลักษณ์ของ จว. กาฬสินธุ์

อาหารเย็นของเราวันนี้ เรียกว่า พาแลง – พา คือ สำรับกับข้าว หรือถาดที่คนอีสานใส่กับข้าวล้อมวงกินกัน และแลง คือ ตอนเย็น – ทำจากผลิตภัณฑ์ของที่นี่ คือ ปลาส้มทอด และอาหารจากปลา เช่น ลาบปลา พร้อมกับการแสดงรำวงคองต้าจากผู้เฒ่าผู้แก่และ MRBADBOY ก็ได้ไปแจมด้วย สนุกครึกครื้นดี

หลังจากนั้นเราก็แยกย้ายกันไปพักแบบโฮมสเตย์ โดยมีเจ้าของบ้านมาคอยรับส่ง MRBADBOY ได้พักที่เฮือนเสาวดี โฮมสเตย์สุขภาพ ของคุณเสาวดี จันทร์ดี

สหัส อรรถเนติกุล ประธานสหัสขันธ์ไดโนโรดโฮมสเตย์ ตำบลโนนบุรี อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันนี้อายุ 68 ปี เกษียณอายุหลังจากดำรงตำแหน่งพัฒนาการอำเภอที่นี่ “เมื่อก่อนนี้อำเภอสหัสขันธ์ทรุดโทรมมาก ไม่มีการท่องเที่ยว ไม่มีใครเข้ามา เราก็เลยทำเรื่องนี้ ก็เริ่มมีคนมาท่องเที่ยวเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากเปิดพิพิธภัณฑ์สิรินธร ก็มีคนมาท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อย แล้วที่พักไม่เพียงพอ เราก็เลยคุยกับทีมผู้สูงอายุร่วมกันในสภากาแฟตอนเช้า เลยคิดพัฒนาจัดตั้งให้เป็นโฮมสเตย์ขึ้นมา ผมได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเรื่องงานโฮมสเตย์ก็รวบรวมพรรคพวกมาจัดตั้งเป็นโฮมสเตย์เมื่อปี 2557 มีสมาชิกเริ่ม 10 หลังคาเรือน ตอนนี้มี 37 หลังคาเรือน ในปี 2559 เราได้ผ่านการรับรองมาตราฐานโฮมสเตย์ไทยจากกระทรวงท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว แล้วในปี 2561 เราผ่านการรับรองมาตราฐานอาเซียนจากกรมการท่องเที่ยวและเข้ารับโล่รางวัลเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ในปี 2561 เราได้ส่งโฮมสเตย์ของเราเข้าประกวด GSB Smart Homestay โฮมสเตย์มีสไตล์ของธนาคารออมสิน เราติดหนึ่งในสิบของโฮมสเตย์ดีเด่นทั่วประเทศ ก็ได้พัฒนาขับเคลื่อนมาเรื่อยๆ นำเรียนให้ทราบถึงลักษณะโฮมสเตย์ก็คือ เราจัดบ้านของครัวเรือนให้ได้พัก ซึ่งจะมีลักษณะต่างจากรีสอร์ทและโรงแรม ของเราจะรับนักท่องเที่ยวเข้ามาเหมือนเป็นญาติพี่น้อง คอยดูแล รับส่ง นำเที่ยว และจะมีกิจกรรมเสริมให้นักท่องเที่ยวตลอดเวลา แล้วได้เรียนรู้วิถีชุมชน เราก็ติดหนึ่งในสิบของโฮมสเตย์ดีเด่นระดับประเทศได้รางวัล 100,000 บาท”

“โฮมสเตย์ ราคา 750 สำหรับ 2 วันหนึ่งคืน ประกอบไปด้วยพาแลงอาหารเช้า ใส่บาตร นำเที่ยวโดยรถรางไปยังจุดต่างๆ อาหารที่โดดเด่นของที่นี่คือเราจะเน้นอาหารพวกปลา เช่นลาบปลาสมุนไพรและทอดปลาส้ม รวมถึงปลาแก้วทอดกรอบ ซึ่งเมื่อนักท่องเที่ยวกลับไปก็จะซื้อกลับไปด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาส้มและปลาแก้ว ผลตอบรับค่อนข้างดี ปีที่แล้ว อาจจะเป็นความโชคดีของนโยบายรัฐบาลก็ได้ เพราะรัฐบาลทำหมู่บ้านนวัตวิถี ซึ่งก็จะมาดูงานเรา เราเคยรับสูงสุดถึง 500 คน ถึงแม้ว่าเราจะมีแค่ 37 โฮมสเตย์แต่เรามีเครือข่าย ปีที่แล้วรับสองอำเภอชนกัน 200 คน สนใจติดต่อเพจของเราได้ที่ “สหัสขันธ์ไดโนโรดโฮมสเตย์” หรือใน Platform ของ Airbnb” ประธานสหัสขันธ์ไดโนโรดโฮมสเตย์ ทิ้งท้าย

เช้าวันรุ่งขึ้น MRBADBOY ตื่นแต่เช้าเพื่อไปใส่บาตรข้าวเหนียว ที่ถนนสายบุญ (Merit Street) หรือถนนคนเดินไดโนโรด (Dino Road Walking Street) แล้วแต่ใครเรียกแบบไหน มีสโลแกนว่า “สหัสขันธ์ เมืองไดโนเสาร์ เมืองอบอุ่น วิถีบุญ วิถีธรรม” ได้เดินทางมาถึง 5 ปีแล้ว จะมีการปูเสื่อยาวไปตามถนนคนเดินสำหรับผู้เฒ่าและเด็กวัยรุ่นที่มาใส่บาตรจะนุ่งซิ่นชุดพื้นเมืองของที่นี่

หลังจากรับประทานอาหารเช้าเป็นข้าวต้มหมูร้อนๆอร่อยดี กันเป็นที่เรียบร้อย เราก็มาทำกิจกรรม DIY เช่นการปั้นดินในรูปทรงสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไดโนเสาร์ การปักลวดลายบนตัวไดโนเสาร์น้อย

MRBADBOY ยังคงนั่งรถชมเมืองมาต่อที่วัดพุทธาวาส แต่เดิมชื่อวัดไตรภูมิ และเป็นอีกวัดหนึ่งที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวชุมชนนวัตวิถี ตั้งอยู่บนเขาภูสิงห์ เป็นที่ประดิษฐานพระพรหมภูมิปาโล เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก 10.50 เมตร สูง 17.80 เมตร ถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดและสูงที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และสวยงามที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย มีมณฑปรอยพระพุทธบาท มีสวนหินสอนธรรม และเป็นศูนย์อบรมคุณธรรมจริยธรรมแก่บุคคลทั่วไป ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้ชมทัศนียภาพที่สวยงามของอำเภอสหัสขันธ์แบบ 360 องศา การเดินทางขึ้นไปที่วัดนั้น มีให้เลือกว่าจะนั่งรถขึ้นไปหรือจะเดินบนบันไดสวรรค์ 654 ขั้น MRBADBOY เลือกที่จะเดินขึ้น ได้ออกกำลังกายยามเช้าและได้เหงื่อบ้าง

หลังจากนั้นเราได้แวะที่ชุมชนท่าเรือภูสิงห์ และได้ลองลิ้มอาหาร OTOP ของที่นี่ โดยกลุ่มแปรรูปปลา เช่น ปลาส้มทอดและแจ๋วบองสุก กินกับข้าวเหนียวร้อนๆๆแซ่บจริงๆ ก่อนที่จะไปเยี่ยมชมซากกระดูกไดโนเสาร์ชิ้นแรกที่ขุดค้นพบในปี 2537 ที่วัดสักกะวัน และอื่นๆอีกมากมาย โดยซากกระดูกบางส่วนได้นำมาจัดแสดงที่ศาลาวัด มีการจัดนิทรรศการแสดงความเป็นมาของการเกิดไดโนเสาร์ในยุคต่าง ๆ รวมทั้งรูปภาพการขุดค้นพบซากกระดูกเหล่านี้

พิพิธภัณฑ์สิรินธร (Sirindhorn Museum, or Dinosaur Museum) เป็นที่ที่ควรเยี่ยมชมเป็นอย่างยิ่ง โดยมีเจ้าหน้าที่ได้เล่าถึงความเป็นมาว่า ปี 2537 เราเจอกระดูกไดโนเสาร์ครั้งแรกโดยเจ้าอาวาสวัดสักกะวันก็คือ หลวงปู่หาญโร และพระเทพก็เสด็จมาในปี 2538 หลังจากนั้นกรมทรัพยากรธรณีเห็นว่ากาฬสินธุ์เป็นแหล่งที่มีศักยภาพมากที่สุดของประเทศไทย ดังนั้นจึงมีแนวคิดในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ความรู้ในเรื่องธรณีวิทยา พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์สิรินธรคือ 233 ไร่ กรมทรัพยากรธรณีวิทยาเป็นคนดูแล อีก 171 ไร่ทางวัดดูแล ด้านในมีพื้นที่ทั้งหมด 441 ตารางเมตร ซึ่งเป็นการแสดงเรื่องธรณีวิทยาและซากดึกดำบรรพ์ การจัดแสดงตามลำดับเวลาที่เกิดขึ้น อย่างน่าสนใจ การเดินทางของเราเริ่มจากการเดินตามรอยเท้าไดโนเสาร์บนพื้น

พิพิธภัณฑ์สิรินธรมีอาคารจัดแสดงนิทรรศการ 2 อาคาร อาคารแรกประกอบไปด้วยนิทรรศการถาวรและนิทรรศการชั่วคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายในนิทรรศการถาวรแบ่งพื้นที่ออกเป็น 8 โซนคือ “จักรวาลและโลก”, “เมื่อชีวิตแรกปรากฏ”, “พาลีโอโซอิก (Paleozoic)”, “มหายุคมีโซโซอิค (Mesozoic)”, “วิถีชีวิตไดโนเสาร์”, “คืนชีวิตให้ไดโนเสาร์”, “ซีโนโซอิก (Cenozoic)”, และ “เรื่องของมนุษย์ เสร็จจากที่นี่ เราก็บึ่งรถไปสนามบินขอนแก่นกันเลย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *