“Neo Tourism” ท่องเที่ยวมิติใหม่ เจาะอินไซต์นักเดินทาง

Beautiful girl in white dress walking in Margaret flowers fields, Chiang mai in Thailand.
“Neo Tourism ท่องเที่ยวมิติใหม่ เจาะอินไซต์นักเดินทาง” ผลงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (College of Management Mahidol University, CMMU) พบว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวครั้งใหญ่ ที่ต้องปรับตัวให้ทัน next normal ในปี 2565 หลังโควิด-19

งานวิจัยยังพบอีกว่ามี 2 กลุ่มที่พร้อมออกเดินทางหลังได้รับวัคซีน คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ (Young Neo Traveler) 18-35 ปี ซึ่งจะเลือกวางแผนการเที่ยว 3-4 วัน ด้วยงบสูงถึง 5,000 บาท สำหรับ 3 จังหวัดแรกที่จะได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี และ กลุ่มครอบครัว (Family Neo Traveler) 27-45 ปี ซึ่งงบลดลงเหลือ 3,000-5,000 บาทต่อครอบครัว สำหรับ 3 จังหวัดแรก ได้แก่ เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ส่วนใหญ่จะเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ

ผศ. ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด กล่าวว่า “การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติจะได้ความนิยมสูงสุด จากการวิจัยพบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ 45% และกลุ่มครอบครัว 61% ต้องการออกไปสัมผัสธรรมชาติเนื่องจากอยู่ที่บ้านมาระยะนาน และการท่องเที่ยวในประเทศจะเป็นตัวเลือกที่นักเดินทางต้องการมากที่สุด ธุรกิจที่ได้รับอานิสงค์ระหว่างทริปที่นักเดินทางโหยหาที่สุด คือ ธุรกิจกลุ่มร้านอาหารและคาเฟ่ ซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่มักมีพฤติกรรมตระเวนหาอาหารโดยจะเลือกร้านที่ไม่แออัด มีพื้นที่นั่งด้านนอก เหมาะแก่การเลี่ยงการนั่งทานอาหารที่ทุกคนต้องถอดหน้ากาก หรือเน้นแบบธรรมชาติ ชมวิวทิวทัศน์ ขณะที่กลุ่มครอบครัว ให้ความสำคัญต่อการพักผ่อนในที่พักเป็นหลักมากกว่า โดยเปลี่ยนเป็นทานอาหารในโรงแรมเป็นหลัก เพราะเชื่อมั่นในการรักษาความสะอาดของภาชนะในโรงแรม และจะเลือกทำกิจกรรมในโรงแรมมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการเดินทาง ซึ่งมาตรการรักษาความสะอาด บรรยากาศของสถานที่ และบริการของพนักงาน จะเป็นสิ่งสำคัญที่นักเดินทางพิจารณามากขึ้นและพร้อมบอกต่อเมื่อรู้สึกประทับใจ อีกหนึ่งการค้นพบที่น่าสนใจคือ ธุรกิจประกันเดินทางเสริมเรื่องโควิด-19 อาจจะเป็นบริการที่มาแรง เพราะกลุ่มคนรุ่นใหม่สนใจซื้อประกันมากถึง 59.4% ขณะที่กลุ่มครอบครัวสนใจซื้อประกัน พุ่งสูงถึง 71.7%”

ช่องทางออนไลน์ในการใช้หาข้อมูลก่อนการเดินทาง พบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ นิยมดูผ่าน Facebook 31.1%, Google 29.4% และ YouTube 21.9% ด้านกลุ่มครอบครัว นิยมดูผ่าน Google 38.6%, Facebook 29.8% และ YouTube 19.8% และข้อมูลเพิ่มเติมก่อนไปเที่ยว คือ มาตรการป้องกัน Covid-19 ของสถานที่ จำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ และ ข้อมูลการให้บริการ เช่น การปรับเปลี่ยนเวลาเปิด-ปิด เป็นต้น

นอกจากนี้ นักเดินทางเลือกติดต่อตรงกับโรงแรม (Direct To Hotel: D2H) เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น 2% และกลุ่มครอบครัวเพิ่มขึ้น 6% ขณะที่การจองผ่าน Online Travel Agent เช่น Booking.com หรือ Agoda ลดน้อยลง กลุ่มคนรุ่นใหม่ ลดลง 5% และกลุ่มครอบครัวลดลง 3% ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มคิดเห็นตรงกันว่ายอมจ่ายแพงเพื่อให้ยกเลิกการจองได้ ดีกว่าการจองถูกกว่าแต่ยกเลิกไม่ได้ ทั้งนี้ทั้งสองกลุ่มมีความกังวลเล็กน้อยในการเดินทางโดยเครื่องบิน ในขณะที่โดยรถสาธารณะ กลุ่มคนรุ่นใหม่กังวลเล็กน้อย แต่กลุ่มครอบครัวกังวลมาก และมองว่าการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวปลอดภัยกว่า

ผศ. ดร.บุญยิ่ง เสริมว่า “ธุรกิจการท่องเที่ยวนับจากนี้ควรเสริมทำ D2H หรือ Direct To Hotel เพิ่มมากขึ้น ให้สอดรับกับพฤติกรรมนักเดินทางที่เปลี่ยนไป โดยเลือกติดต่อการจองที่พักหรือสอบถามข้อมูลกับโรงแรมโดยตรงมากขึ้น อาทิ ข้อมูลมาตรการด้านสุขอนามัย การปรับเปลี่ยนวันเวลา และเงื่อนไขการจองต่างๆ ทดแทนการจองผ่านแอปพลิเคชันเอเจนท์ออนไลน์ที่อาจไม่สามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับนักเดินทางได้ ดังนั้นกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวควรชูจุดขายด้านการสื่อสารกับนักเดินทางโดยตรงผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น LINE OA, Facebook, Instagram เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกรับพฤติกรรมดังกล่าวแบบไร้รอยต่อ หรือที่เรียกว่า Frictionsless Contact นอกจากนี้ การติดต่อลูกค้าโดยตรง (Direct to Customer) จากผลการสำรวจช่องทางที่ใช้ในการหาข้อมูลในการท่องเที่ยว การโฆษณาออนไลน์ (Online Advertising) ไปยังนักเดินทางกลุ่มเป้าหมายโดยตรง จะยังช่วยเพิ่มแรงบันดาลใจ (Inspiration) และการพิจารณาตัดสินใจ (Consideration) เพื่อสร้างโอกาสสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวอีกด้วย”

นางสาวธรชญาน์ สุขสายชล นักศึกษาปริญญาโท CMMU และหัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า “จากการวิเคราะห์ข้อมูลวิจัย ทำให้ค้นพบแนวโน้มการท่องเที่ยวใหม่ (Neo Tourism Trends) 3 ข้อ ‘Nature Seeking’ ตามหาธรรมชาติ ‘Hygieneaholic’ ติดสะอาด และ ‘Flexi Needed’ ต้องการความยืดหยุ่น พร้อมกลยุทธ์การตลาดรูปแบบใหม่เพื่อธุรกิจท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ‘Roadmap Strategies’: R (Reliable Service) ยกระดับความน่าเชื่อถือในการบริการ, O (Optimized Experience) ประสบการณ์ที่แปลกใหม่, A (Anti-Disease) ปลอดเชื้อ และปลอดภัย, D (Direct to Hotel) ดีลตรงกับโรงแรม, M (Media Matching) ใช้สื่อหลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยง, A (Alliance) กระชับมิตรกับคู่ค้า, และ P (Part of Community) ขับเคลื่อนชุมชน ควบคู่กับพัฒนาธุรกิจตนให้ยั่งยืน”
ผู้สนใจศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านการจัดการหลักสูตรไทย-นานาชาติ สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 4 ตุลาคม 2564 ที่ https://apply.cm.mahidol.ac.th/web/
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
โทร: 02-206-2000
Facebook: https://www.facebook.com/CMMUMAHIDOL