ศิลปิน “ไทย – สิงคโปร์” กับพื้นที่ธรรมชาติในเมือง

“Tree Management Agency” นิทรรศการของ 2 ศิลปินจาก 2 ประเทศ ประทีป สุธาทองไทย จากไทย และ โรเบิร์ต จ้าว เหรินฮุ้ย จากสิงคโปร์ ร่วมจัดแสดงผลงานที่ชวนให้ขบคิดอย่างลึกซึ้งถึงพื้นที่ธรรมชาติที่อยู่ในเมืองใหญ่ ณ วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี ตั้งแต่วันนี้จนถึง 23 มีนาคม 2567 เวลา 10.30 น. ถึง 19.30 น.

ไม่ว่าในเมืองกรุงเทพฯ หรือสิงคโปร์ ต้นไม้เป็นส่วนประกอบสำคัญของพื้นที่สีเขียว นอกจากประโยชน์ที่คนเมืองได้รับในด้านความสวยงาม ร่มเงา และการฟอกอากาศแล้ว ยังมีประชากรสัตว์นานาชนิดที่ถูกความเป็นเมืองบีบให้ปรับตัวจาก “สัตว์ป่าธรรมชาติ” เป็น “สัตว์ป่าคอนกรีต” ซึ่งก็ได้อาศัยต้นไม้เป็นแหล่งพักพิงเช่นกัน ทว่านโยบายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลและจัดการต้นไม้นั้นถูกตั้งไว้บนแนวคิดที่เอื้อมนุษย์เป็นสำคัญ การกำหนดนโยบายและการแก้ไขจึงมุ่งเน้นไปที่คนโดยมิได้คำนึงถึงสิ่งมีชีวิตอื่นใด ฉะนั้น จะเหลือพื้นที่เมืองที่ใดบ้างที่ธรรมชาติได้เป็นเจ้าของ และพื้นที่นั้นจะมีลักษณะอย่างไร

แม้ว่าประทีป และโรเบิร์ต จะมาจากคนละประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ แต่ทั้งสองต่างชื่นชมผลงานของกันและกันมายาวนาน นิทรรศการนี้นำเสนอผลงานภาพถ่ายและวิดีโอชุดใหม่ ซึ่งเป็นผลจากการลงพื้นที่และการวิจัย โดยมุ่งเจาะลึกถึงประเด็นการเคลื่อนย้ายต้นไม้ใหญ่ และการบริหารจัดการธรรมชาติสีเขียวภายในเมือง โดยหวังว่าจะช่วยส่งเสริมให้เกิดแนวทางที่เหมาะสมในการดูแลพื้นที่สีเขียว ที่ครอบคลุมเหล่าผู้อาศัยทั้งประชากรมนุษย์และประชากรสัตว์ที่ใช้พื้นที่ร่วมกัน

“UPROOT” พูดถึงอุตสาหกรรมการล้อมต้นไม้เพื่อการขนย้าย ซึ่งเป็นทางสามแพร่งที่เจ็บปวดเมื่อธุรกิจ วัฒนธรรม และการอนุรักษ์ มายืนในจุดเดียวกัน  ผลงานชุดนี้ฉายแสงไปที่กระบวนการเตรียมต้นไม้ที่ทำในเวลากลางคืน โดยเน้นไปที่การขุดล้อมโคนต้นไม้เพื่อจำกัดระยะรากสำหรับเตรียมการขนย้าย แสงไฟในภาพจึงสะท้อนการต่อสู้ของต้นไม้ที่กำลังงัดข้อกับการแทรกแซงของมนุษย์เพื่อให้มีชีวิตรอด  ภาพถ่ายทั้งหมดเป็นภาพต้นไม้บนผืนแผ่นดินดั้งเดิม  ชื่อผลงานแต่ละภาพเป็นจุดพิกัด GPS ที่แสดงถึงตัวตนดั้งเดิมของต้นไม้  ภาพเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ความทรงจำครั้งสุดท้ายก่อนที่ต้นไม้จะถูกเคลื่อนย้ายไป

“The 19” ถ่ายทอดความน่าวิตกกังวลของการแทรกแซงระบบนิเวศในโลกที่กลายเมืองมากขึ้นทุกวัน  ในปี 2014 ศิลปินใช้เวลาสังเกตเฝ้าต้นไทรต้นหนึ่งเป็นเวลาหลายคืน เขาซ่อนกล้องไว้ในต้นไม้และสามารถบันทึกภาพนกที่อาศัยอยู่ในต้นไม้ได้ถึง 19 สายพันธุ์  เมื่อต้นไทรต้นนั้นต้องถูกล้อมและขุดย้ายออกจากพื้นที่  นกเหล่านั้นก็หายไปด้วย  บรรยากาศความเงียบงันบ่งบอกถึงผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์  ผลงานชุดนี้สำรวจธรรมชาติที่ต้องแปลงสภาพไปด้วยน้ำมือมนุษย์  โดยชี้ให้เห็นความพยายามในการฟื้นตัว และความเปราะบางของระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิต

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *