“Form of Feeling” สะท้อน 4 ความรู้สึก ผ่านดอกไม้

“Form of Feeling” นิทรรศการจัดวางดอกไม้ (Flower Installation) กับ 4 ความรู้สึกของมนุษย์ จัดขึ้นในวันที่ 27 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม ตั้งแต่เวลา 16.00-20.40 น. ชั้น 2 ศูนย์อาหารตลาดยอดพิมาน ปากคลองตลาด (Flower Market) เข้าชมฟรี แต่สนับสนุนซื้อดอกไม้จากชุมชนเพื่อเป็นตั๋วเข้างานและเป็น Collective Flower Installation อีกชิ้นหนึ่งด้วย

การเดินทางมาที่ปากคลองตลาด โดยรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ไปลงที่สถานีสนามไชย ทางออก 4 แล้วข้ามถนนไปทางซ้ายมือ เดินตรงไปเรื่อยๆ จนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เลี้ยวขวาเข้าตลาดยอดพิมาน หรือ Yodpiman River Walk ก่อนถึงป้อมยามให้เลี้ยวขวาเข้าตลาด และจะเห็นบันไดทางขวามือ ถ้ามาโดยรถเมล์ก็มาลงที่ใต้สะพานพุทธ และเดินตรงไปที่ตลาดยอดพิมานได้เลย

“ปัท-สุธิดา กอสนาม” Design Director บริษัท HUI Team Design เล่าให้ฟังว่า “นิทรรศการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิชาของอาจารย์หน่อง (ผศ. ดร. สุพิชชา โตวิวิชญ์ ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) ที่จะให้นักเรียนมาช่วยกันทำงาน Installation เพื่อชุมชน เราเป็นทีมออกแบบและเขียนแบบงานทั้ง 4 ชิ้นนี้และให้น้องๆ มาช่วยกันผลิตและมาช่วยกันทำ ซึ่งแต่ละปีก็จะเปลี่ยนกิจกรรมไปเรื่อยๆ ปีนี้ คอนเซ็ปต์คือเราจะมาทำงานกันที่ปากคลองตลาด เราก็เลยทำเป็น Installation ดอกไม้กันขึ้นมา”

คอนเซ็ปต์ของนิทรรศการ คือ การตีความรู้สึกต่างๆ กับความเป็นดอกไม้ที่ปากคลองตลาด อาทิเช่น “Happiness” (ความสุข), “Calm” (ความสงบ), “Fear” (ความกลัว) และ “Sadness” (ความเศร้า) เอามาใช้ทำ Installation

หลังจากหาซื้อดอกไม้จากแถวนั้นและเดินขึ้นบันไดไปชั้น 2 เราจะต้องลงทะเบียนและนำดอกไม้ของเราไปจัดวางไว้เป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง เมื่อเดินผ่านศูนย์อาหารจะพบกับผลงานศิลปะดอกไม้ชิ้นแรกกับความรู้สึกแรก “Happiness”

“ปัท-สุธิดา” อธิบายว่า “อันแรกคือ ‘Happiness’ เราเลือกจากสีและฟอร์มของดอกไม้ของดอกดาวเรือง ซึ่งมีฟอร์มที่กลมและสีสันสดใส ทั้งสีส้มและสีเหลือง พอมารวมกันเหมือนกับ ‘ก้อนแห่งความสุข’ นอกจากฟอร์มของดอกไม้ที่เป็นทรงกลมแล้ว เราก็ทำให้ Installation เป็นฟอร์มวงกลมด้วยเหมือนกัน เหมือนเป็นความสุขที่ยูนิตเล็กๆ รวมกันเป็นยูนิตใหญ่และเป็น Layers

“ผลงานชิ้นที่ 2 คือ ‘Calm’ ที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดูจากด้านหน้าจะเหมือนคลื่นน้ำสูงขึ้นไปแล้วพอเราเดินทะลุเข้าไปก็เหมือนเราไปอยู่ใต้น้ำ จะรู้สึกสงบ ด้านหน้าและด้านหลังจะต่างกัน ด้านหน้าจะเป็นดอกไม้สีขาวหลายอย่าง เช่น ดอกกล้วยไม้สีขาวและดอกมัม พอเข้ามาข้างในจะเป็นดอก Cluster สีฟ้า เหมือนเรามาอยู่ใต้ผืนน้ำ แล้วก็จะมีการใช้ Lighting ช่วยให้เรารู้สึกเหมือนเราอยู่ใต้น้ำ กับโทนสี Blue ทำให้เย็นลง ไฟที่ส่งลงมา เราโปรแกรมไฟให้มันดูแล้วรู้สึกพริ้วไหวตลอดเวลา เหมือนเราอยู่ใต้น้ำ คือความนิ่ง

“ผลงานชิ้นที่ 3 คือ ‘Fear’ ปกติคนเราให้ดอกกุหลาบกันจะนึกถึงความรัก ความสวยงาม แต่ที่นี้เรามองในมุมกลับกัน มองถึงหนามที่ก้านของดอกกุหลาบ เราก็เลยเอากุหลาบทุกดอกมาแขวนกลับหัว เพราะว่าเราจะโชว์เรื่องหนาม ที่ดูอันตราย น่ากลัว และเลือกใช้ไฟ Lighting ที่เป็นสีแดง ทางเดินใน Installation จะแคบและเดินยากลำบาก เพื่อให้รู้สึกกลัวถึงหนามที่กำลังใกล้ตัวเรา สำหรับกระจกสองด้านของกำแพงให้รู้สึกความกลัวขยายแผ่กว้างไปมากขึ้น มองไปทางไหนก็จะรู้สึกว่าน่ากลัวจนไม่มีที่สิ้นสุด มันเป็น Effect ของกระจกที่มัน Mirror กัน ให้ดูเป็น Infinity”

ผลงานชิ้นที่ 1-3 เชื่อมต่อเนื่องกัน แต่ผลงานชิ้นที่ 4 เราต้องเดินไปอีกนิด เนื่องจากพื้นที่ไม่เพียงพอ

“ปัท-สุธิดา” พูดว่า “ผลงานชิ้นที่ 4 นี้ คือ ‘สายฝนแห่งความเศร้า’ เราใช้เชือกมาแทนฝนและความโศกเศร้า และใช้ดอกกล้วยไม้มาแทนหยดฝนที่กำลังร่วงลงมาใส่ตัวเรา ฟอร์มมันคือการเดินทางผ่านอุโมงค์แห่งความเศร้าไป เราเลือกใช้ดอกกล้วยไม้ อย่างแรกเลยคือสีม่วง ทึมๆ ดูเศร้า เป็นดอกกล้วยไม้ที่เขาใช้สำหรับไหว้พระที่มีอยู่เยอะในปากคลองตลาด ที่เราใช้เพราะว่ารู้สึกว่าดอกกล้วยไม้ชนิดนี้ไม่เคยเอามาใช้ให้กัน หรือแบบ friendly ดูมีความสุข เอาไว้ไหว้พระอย่างเดียว รู้สึกว่าเป็นดอกไม้ที่น่าน้อยใจ น่าเศร้า ที่ไม่ค่อยมีใครสนใจ ฟอร์มที่ทำคือเราไล่สีจากกล้วยไม้สีม่วงไปดอกสีขาว เหมือนว่าสุดท้ายแล้ว เราจะเจอแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์”

การซื้อดอกไม้แทนตั๋วเข้างาน

คือการร่วมสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนปากคลองตลาด และดอกไม้เหล่านี้ก็จะกลายเป็น Collective Flower Installation อีกชิ้นหนึ่ง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *