“Dancing with My Imagination” ไปตามความรู้สึก

“ศุภเชษฐ์ กุมกาญจน์” ศิลปินกรุงเทพแต่ปักหลักที่เชียงใหม่เกือบ 20 ปี ตั้งแต่จบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กลับมาแสดงงานเดี่ยวครั้งแรกที่กรุงเทพในรอบกว่า 10 ปี ในนิทรรศการที่มีชื่อว่า “Dancing with My Imagination” ที่ ME Gallery ชั้น 2 ริเวอร์ซิตี้ แบ็งคอก ตั้งแต่วันนี้จนกระทั่งวันที่ 25 มิถุนายน 2566 เวลา 11.00 – 19.00 น. (ปิดวันจันทร์)

“ศุภเชษฐ์” กล่าวว่า “ผมรู้สึกว่า คือตอนนี้เหมือนมันห่างหายไป  3-4 ปี ที่ไม่ได้แสดงงานเลย ปกติจะมีแสดงงานที่ต่างประเทศบ้าง ตอนนี้เรารู้สึกเหมือน warm-up กันใหม่ และพอดีลองระบบกับ curator ด้วย เขาไปเห็นงานที่เชียงใหม่และอยากเอามาแสดงที่กรุงเทพด้วย เราก็เลยมา ที่นี้ว่าอย่างงานอาจจะเน้นชิ้นเล็กชิ้นน้อยหน่อย คือการจัดการไม่ยุ่งยากมากเอาลงมาจากเชียงใหม่ง่ายๆ มันจะคละหลายปีพ.ศ.กัน มีทั้งงานใหม่และงานเก่า คือเรารู้สึกว่าแต่ละช่วง มันก็มีท่วงทำนองของมัน ช่วงเวลานั้นเรารู้สึกอะไรเราก็วาดแบบนั้นโทนสีแบบนั้น คือเรารู้สึกว่าเหมือนกับว่าเราก็ตามท่วงทำนองไป เหมือนเราเต้นตามท่วงทำนองไป งานมันก็เปลี่ยน อย่างงานรุ่นเก่าๆ เป็น drawing ก็มีโทนสีไม่เยอะ ก็เลยจะมีความหลากหลายของชุดนี้ ไม่ได้โฟกัสเฉพาะ”

ทำใมตั้งชื่อนิทรรศการครั้งนี้ว่า “Dancing with My Imagination”?

ก็คือมันอยู่ในจินตนาการของเรา ว่าช่วงเวลานั้นเรานึกคิดอะไร เราก็สร้างงานช่วงๆ นั้นออกมา เพราะจริงๆ งานนี้มีตั้งแต่ปี 2000 กว่า แต่จริงๆ ผมเริ่มเขียนช้างตั้งแต่ปี 2002 จนถึงปัจจุบัน แต่งานนี้อาจจะไม่ได้ย้อนไปถึง 2002 แต่อาจจะ 2018 มันก็จะมีช่วง Timeline ของมันว่าแต่ละชิ้นมันก็เปลี่ยน บางชิ้นเนี๊ยบ บางชิ้นทิ้งทีแปรงปล่อยเลย ก็คือแล้วแต่ช่วงเวลานั้นที่เราจะเต้นไปกับเพลง

คาแลคเตอร์ของช้างและกระต่ายมาอย่างไร?

ปี 2002 ผมก็เริ่มเขียนช้างแล้ว แต่ตอนนั้นเราก็วาดขายทั่วๆ ไปที่เชียงใหม่ แต่หลังๆ ก็มีคอนเซ็ปต์ส่วนตัวเราเข้าไป ตอนแรกเริ่มมี “ช้าง” เดี่ยวๆ เลย เรารู้สึกว่าเราอยากจะเริ่มถ่ายทอดความรู้สึกของเรา เราก็อยากหาอะไรมาบ่งบอกสักหน่อยแบบว่า มันคือะไร ตัวอะไร เราก็นึกขึ้นได้ว่าจริงๆ เวลาเราเกิดที่ในไทย หน้าตา รูปพรรณสัณฐาน ไม่ใช่เหมือนฝรั่ง วิธีคิด ไอเดีย คำสอนพุทธศาสนา อะไรหลายๆ อย่างมันหลอมให้เราเป็นคนมีแบบนี้เป็นอย่างนี้ ก็เลยได้ไอเดียว่า งั้นเราเอาช้างละกันเพราะเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย เราเกิดที่นี่เอาช้างมาแทนตัวเองเลย เรายืมช้างมาเขียนเพื่อสื่อความรู้สึกของเราไป

สมมุติเช่น ปี 2005 ตอนนั้นสร้างบ้าน ปวดหัวมาก เดี๋ยวคุยกับช่าง เดี๋ยวหาเงิน เมื่อไหร่จะหมดปัญหาสักที เราอยากเป็นอิสระจากเรื่องพวกนี้ ตอนนั้นก็เลยเอา “นก” เข้ามาร่วมกับช้าง มีนกกับต้นไม้ก็เป็นความรู้สึกเราที่อยากปลดปล่อยมันออกไปส่วน 2009 เริ่มมี “กระต่าย” เข้ามา ตอนนั้นผมเปิดร้านที่เชียงใหม่ 2 ร้านและขายดี คือผมทำ Product ด้วยนะ คือเอางานเรามาทำเป็น Product ทำเสื้อยืด โปสการ์ด สมุด มันก็เลยยุ่งเพราะว่าขายดี ก็กลายเป็นว่าไม่มีเวลาเขียนรูปเลย และผมก็กลัวว่า เอ๊ะ จินตนาการเราจะหายไปมั้ย

ทีนี้มีอยู่วันหนึ่ง เราได้นั่งนิ่งๆ และเห็นพระจันทร์ ไอ้สตอรี่ กระต่ายกับดวงจันทร์ เราได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว แต่ก็ไม่เคยสนใจนะ และไม่เคยรู้ลึกอะไร แต่วันนั้นเผอิญเราเห็นรูปกระต่ายจริงๆ คือเหมือนเรามองก้อนเมฆไปเรื่อยๆ เอ๊ะ มันมี shape กระต่ายจริงๆ วะ นึกว่ามันเป็นเพียงแค่เรื่องเล่าเฉยๆ ก็เลยได้ไอเดียว่าเราไม่ได้ใช้แค่ตามอง เราใช้จินตนาการด้วย เราเลยเห็นกระต่าย ก็เลยได้ไอเดียว่างั้นเอากระต่ายมาเป็นสัญลักษณ์แทนจินตนาการ ช้างก็คือศิลปินก็คือตัวเรา ก็พยายามจะรักษาจินตนาการของเราเอาไว้ด้วยความกลัวว่ามันจะหายไปตอนนั้น ก็เลยเป็นคอนเซ็ปต์ช้างกับกระต่ายยาวมาเรื่อยเลย จนกระทั่งแบบว่าถ้ามีคอนเซ็ปต์อื่นแยกย่อยไปก็ค่อยว่ากัน

เป็นศิลปินสไตล์ไหน?

โหว ตอบยากเลย บางคนเป็น Naive บางคนบอกเป็น Cubism ก็มีนะเป็นเหลี่ยมๆ แต่ว่าโดยส่วนตัวชอบ Post Impressionism พวกแวนโก๊ะ

เห็นรูปช้างและกระต่าย นึกถึง Illustration

ก็มีปนๆ หลังๆ เราก็อยากใช้ทีแปรงบ้างไม่อยากเนี๊ยบแล้ว ทำเซรามิกบ้าง ทำภาพพิมพ์บ้าง เพราะว่าเทคนิคอื่นมีผลต่อการเขียนเหมือนกันหลังจากนั้น หมายถึงว่าเราอาจจะได้ sense บางอย่างเซรามิก หรือ ภาพพิมพ์ มันเอามาปรับในงานเพ้นท์ได้โดยอัตโนมัติไม่รู้ตัว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *