“ศิลปะ-ไทย-เวลา” เยือนย้อนหลังหอศิลป พีระศรี

นิทรรศการ “ศิลปะ-ไทย-เวลา” เยือนย้อนหลังหอศิลป พีระศรี – โครงการ 100 ปี คอร์ราโด เฟโรชี (ศิลป พีระศรี) ถึงสยาม ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 9 พฤษภาคม – 20 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 นับเป็นปีครบรอบสำคัญของวงการศิลปะไทย ที่ถือว่าท่านเป็นบิดาศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทย และเป็นผู้ริเริ่มการสร้างหอศิลปะสาธารณชนแห่งแรกของประเทศไทยคือ หอศิลป พีระศรี เพื่อให้เป็นสถาบันที่มีหน้าที่ในการขับเคลื่อนสังคมและศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางศิลปะ ทั้งนี้นิทรรศการจัดขึ้นเพื่อตระหนักถึงความสำคัญและสร้างความสนใจศึกษาถึงการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ของหอศิลป พีระศรี ผ่านนิทรรศการจดหมายเหตุ และผลงานศิลปะ เพื่อเป็นฐานองค์ความรู้ที่เป็น “จุดเริ่มต้น” นิเวศน์ทางศิลปะที่สำคัญที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ ต่อยอด และเผยแพร่สู่สาธารณชนในวงกว้าง

“หอศิลป พีระศรี” เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์และวิสัยทัศน์ของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี (15 กันยายน พ.ศ. 2435 — 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505) ปูชนียบุคคลคนหนึ่งของไทยที่ได้สร้างคุณูปการทางด้านศิลปะสมัยใหม่ ผู้สร้างสรรค์ผลงานมากมายจนเป็นที่กล่าวขานถึงปัจจุบัน ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและอาจารย์สอนวิชาศิลปะที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งภายหลังได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์คนแรก ในยุคที่ประเทศไทยยังขาดการส่งเสริมศิลปะ และขาดสถานที่จัดแสดงผลงานศิลปะที่เรียกว่า “หอศิลป์” ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ได้ริเริ่มโครงการหอศิลป์ แต่ท่านก็ถึงแก่กรรมก่อนที่ได้มีการสร้างหอศิลป์ อย่างไรก็ตามโครงการได้มีการสานต่อโดยกลุ่มผู้อุปถัมภ์และรักศิลปะ ร่วมจัดตั้ง “มูลนิธิหอศิลป พีระศรี” เพื่อระดมทุนและก่อสร้างศูนย์รวมศิลปะสมัยใหม่ขึ้นมา และเป็นอนุสรณ์ให้แก่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี โดยเปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2517

หอศิลป พีระศรี นับว่าเป็นสถาบันที่มีการนำเสนอนิทรรศการและกิจกรรมทางศิลปะแห่งแรกของประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 14 ปี ที่ดำเนินงานระหว่าง พ.ศ. 2517 – 2531 ได้จัดแสดงนิทรรศการศิลปะ รวมไปถึงละครเวที ภาพยนตร์ ดนตรี และการแสดงอื่นๆ อย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่นิทรรศการศิลปะรูปแบบขนบไปจนถึงรูปแบบใหม่ล้ำสมัยของศิลปินระดับโลกและศิลปินไทยทั้งที่เป็นศิลปินอาวุโสไปจนถึงศิลปินรุ่นใหม่ในขณะนั้น จนทำให้พื้นที่แห่งนี้มีความหมายเป็นอย่างยิ่งในฐานะหอศิลป์ของสาธารณชนแห่งแรก และยังมีสถานะเป็นสถาบันศิลปะแห่งนวัตกรรมสมัยใหม่ที่สร้างความเคลื่อนไหวให้กับสังคมในวงกว้างและงานต่างๆ ที่จัดขึ้นที่ หอศิลป พีระศรี สะท้อนสภาวะของสังคมไทยในบริบทยุคเปลี่ยนผ่าน และสร้างแนวทางความต่อเนื่องของศิลปะในสังคมที่สืบทอดจนมาถึงปัจจุบัน เป็นแบบอย่างให้แก่หอศิลป์สาธารณชนในยุคต่อมา โดยเฉพาะหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และนิทรรศการยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ชมมองเห็นถึงบทบาทความสำคัญของหอศิลป์สาธารณชนที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เมื่อย้อนมองกลับไปตั้งแต่เจตนารมณ์และอุดมการณ์ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จนถึงปัจจุบัน

นิทรรศการที่จะจัดขึ้นมีลักษณะเป็นการรวบรวมข้อมูลจดหมายเหตุ (Archive) เกี่ยวกับ หอศิลป พีระศรี ซึ่งนอกจากจะเป็นงานรูปแบบนิทรรศการแล้ว ยังรวมรวมข้อมูลงานดนตรีและละครอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการมองบทบาทของเครือข่ายผู้ผลักดันและส่งเสริมศิลปะ ผู้อุปถัมภ์ศิลปะ (Art Patrons) เช่นที่สามารถทำให้เกิดหอศิลป์ขึ้นได้ รวมถึงบทบาทของสถาบันวัฒนธรรมต่างประเทศที่สนับสนุนกิจกรรมทางศิลปะร่วมสมัยมาโดยตลอดหลายสมัย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *