“In A Cogitation” สะท้อนความคิด วิเคราะห์ แยกแยะ

“In A Cogitation” นิทรรศการ ภายใต้โครงการบ่มเพาะและสร้างเครือข่ายศิลปินรุ่นใหม่ ครั้งที่ 6 หรือ Early Years Project #6 สะท้อนถึงระบบทางความคิด กระบวนการวิเคราะห์ แยกแยะ นำไปสู่การทำงานศิลปะร่วมสมัยของ 8 ศิลปิน ทั้งจากความเชื่อวัฒนธรรม สังคม การศึกษา และประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์อันโดดเด่น ณ ห้องนิทรรศการชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ตั้งแต่วันนี้จนกระทั่งวันที่ 13 สิงหาคม 2566

เขตสิน จูจันทร์

ผมสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติ ตอนที่ย้ายมาอาศัยในกรุงเทพฯ เมื่อสิบปีก่อน ผมรู้สึกขาดการเชื่อมโยงกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความรู้สึกนี้จุดประกายให้ผมใช้การฟังซึ่งเป็นแนวปฏิบัติพื้นฐานของนักดนตรี มาเป็นเครื่องมือในการสำรวจทำความเข้าใจ และสร้างความใกล้ชิดกับโลกรอบกาย หลังจากได้ศึกษาทั้งดนตรี และธรรมชาติ ผมพบว่าการจะชื่นชมและเข้าใจทั้งสองประเด็นมากขึ้นนั้น อาศัยเวลาและการฟังอย่างละเอียดอ่อน เมื่อใช้การฟังเป็นจุดเริ่มต้น ผมเริ่มสนใจปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีเสียงเป็นองค์ประกอบสำคัญ และได้ศึกษาปรากฏการณ์ “Dusk Chorus” ซึ่งหมายถึงช่วงที่นกหลายหลายสายพันธุ์ส่งเสียงร้องขึ้นพร้อมๆ กันในเวลาพลบค่ำ ผมใช้เวลาทำความเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าวสักระยะ และมอง Dusk Chorus ว่าเป็นทั้งสัญญาณของการสิ้นสุดวันและการเปลี่ยนผ่านของช่วงเวลาหนึ่งในเมืองหลวง

ผลงาน Dusk Chorus เป็นการจัดวางเสียงคู่กับการจัดวางไฟและวัตถุต่างๆ โดยเสียงที่ปรากฏในงานนั้นเป็นการผสมผสานระหว่างบทประพันธ์ดนตรีกับเสียงบันทึกของ Dusk Chorus และเสียงของกิจกรรมมนุษย์ในช่วงยามเย็นที่ถูกตัดต่อดัดแปลง จัดวางร่วมกับแสงไฟที่สร้างเงาทอดไปตามวัตถุก็จะสื่อถึงปรากฏการณ์ Dusk Chorus ช่วงเวลาพลบค่ำ และการไหลผ่านอย่างช้าๆ ของเวลา ในระหว่างการชมงาน Dusk Chorus ผมอยากเชิญชวนให้ผู้ชมได้ใช้เวลาตั้งใจฟัง และสัมผัสความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เกิดขึ้นรอบตัว และอยากให้นำประสบการณ์ดังกล่าวไปใช้รับฟังสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกภายนอกต่อไป

ไชยันต์ นิลบล

เนื่องจากครอบครัวของผมเป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานคร อาชีพที่ทำได้ คือ การใช้แรงงานเพื่อแลกกับค่าตอบแทน จึงทำให้ต้องย้ายที่อยู่อาศัยบ่อยครั้งตามอาชีพของพ่อแม่ ก่อตัวเป็นความสงสัยในวัยเด็ก เมื่อเวลาผ่านไปผมเริ่มเข้าใจกับสถานะของครอบครัว และเห็นมุมมองที่แตกต่างเมื่อเริ่มทำงานเพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว และจุดเปลี่ยนสำคัญคือการเข้ารับข้าราชการทหาร ทำให้ผมรับรู้ถึงความเหลื่อมล้ำในองค์กร แต่เมื่อถอยออกมาพิจารณาพบว่าสภาพสังคมภายนอกค่ายทหารก็มีความเหลื่อมล้ำแทรกซึมอยู่ในบริบทสังคมเมือง สถานที่ เหตุการณ์ที่แตกต่างกันไป เช่น ความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ความเหลื่อมล้ำโครงสร้างอำนาจ และความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เสมอภาคทางเพศ จากประสบการณ์ดังกล่าวทำให้ผมสนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังสังคม ที่มีผลกระทบต่อผู้คน หากแต่ยังมีการมองข้ามความไม่เท่าเทียม และความเหลื่อมล้ำจนกลายเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย ผมจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทอดเรื่อราวความไม่เท่าทียมผ่านผลงานศิลปะ เพื่อกระตุ้นให้คนในสังคมฉุกคิดถึงปัญหาที่มักถูกมองข้าม

ผลงานครั้งนี้ นำเสนอ และเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแรงงานในกรุงเทพฯ ที่มาจากภาคอีสาน คนใช้แรงงานที่กระจัดกระจ่ายอยู่แถบชานเมืองรอบกรุงเทพ มีฐานะครอบครัวยากจน ทุกคนความเชื่อว่าถ้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ คุณภาพชีวิตของตัวเอง และครอบครัวจะดีขึ้น ทำให้ทุกคนในครอบครัวมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ทำงาน เก็บเงิน แล้วส่งกลับบ้านให้ครอบครัวที่อยู่ต่างจังหวัด แรงงานเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนนักล่าสมบัติ ที่มีเป้าหมาย มีแผนที่ลายแทง โดยที่ระหว่างไม่รู้ว่าทางจะต้องพบเจอกับอุปสรรครูปแบบใหนบ้าง แต่ทุกคนเต็มใจที่จะเสี่ยงเพื่อแลกกับชีวิตที่ดีขึ้น

ชนสรณ์ ชัยกิตติภรณ์

ผมได้แรงบันดาลใจจากการได้สัมภาษณ์อดีตนักศึกษาหญิงคนหนึ่ง ถึงประวัติชีวิตของเธอที่เติบโตมาในครอบครัวที่เป็นอเมริกันดรีม (American Dream) พ่อของเธอทำงานกับ USOM (United States Operations Mission to Thailand) ทำให้เธออ่านหนังสือมากมายที่มีส่วนทำให้เธอมีความคิดและความเชื่อในเรื่องเสรีภาพ และความเป็นธรรมของสังคม แรงบันดาลใจนี้เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดผลงาน “Here We Are” ในมิติที่ลึกลงไปกว่านั้น

ผมสืบค้นความสัมพันธ์สหรัฐอเมริกาและประเทศไทย ถึงความเป็นกึ่งอาณานิคมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยช่วงเวลาสงครามเย็น ผ่าน จดหมายเหตุ และเอกสารเก่าต่างๆ ทั้งของหน่วยงานหรือองค์กรสหรัฐอเมริกาและรูปภาพหรือสิ่งของส่วนบุคคล เช่น ของ USIS (United States Information Service) ที่ได้ถ่ายสร้างภาพยนตร์ในพื้นที่ต่างๆ ของไทย เอกสาร นิตยสาร จากองค์กรเดียวกันและอื่นๆ รวมถึงรูปภาพครอบครัวที่สื่อถึงประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล

สำหรับผม แม้ในช่วงเวลานั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของความก้าวกระโดด ด้านเศรษฐกิจ ความทันสมัย การศึกษา แต่สิ่งเหล่านั้นกลับไม่ได้มีเพียงภาพเดียวเท่านั้น พลวัตของทุนนิยมส่งเสริมให้กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย กลายร่างเป็นศูนย์กลางของความเจริญที่ดึงดูดทรัพยากรอื่นๆ จากพื้นที่ต่างจังหวัดมาสู่ตัวเอง การเกิดขึ้นของความคิดและความเชื่อของผู้คนที่กลับหัวกลับหางนำไปสู่เหตุการณ์ที่ลืมไม่ได้แต่ก็จำไม่ลง ที่ยังคงวนเวียนอยู่เสมอมา

ผลงานชิ้นนี้ต้องการกลับไปหาอดีตและตั้งคำถามต่อปัจจุบันถึงมรดกความเป็นอาณานิคมที่ตกค้างที่ได้กลายสภาพเป็นเรื่องปกติที่ซับซ้อนในสังคม ผ่านภาพที่ถูกสร้าง ภาพที่ถูกบันทึก ภาพที่ทำซ้ำ รวมทั้งเสียงเรื่องแต่งของบุคคลที่ได้แรงบันดาลใจจากการค้นคว้าและพูดคุย เพื่อเล่าเรื่องและยึดโยงสองช่วงเวลาเข้าหากัน

พระณัฐวัฒน์ อุปนันท์

งานพุทธศิลปกรรม เสมือนการเทศนาธรรมที่ไม่จำเป็นต้องพูด เป็นการเทศนาธรรมที่ผู้ชมจะได้เห็นธรรมอย่างมีรูปธรรมที่สุด อาตมาเกิดในครอบครัวที่มีความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมศาสนา อาตมามีความใกล้ชิดกับวัดในหมู่บ้านมากเพราะมีญาติเป็นเจ้าอาวาส อาตมาเป็นศิษย์วัดมาแต่เด็ก ญาติทางปู่เป็นสัปเหร่อมาแต่รุ่นปู่ มีญาติเป็นมัคนายก โยมตาเป็นหมอทำขวัญ อาตมาจึงได้ซึมซับและเกิดความชื่นชอบในเรื่องลึกลับต่างๆ ชอบฟังเรื่องผีจากคนเฒ่าคนแก่ และเคยศึกษาเรื่องไตรภูมิมาก่อน

ผลงานของอาตมาได้แรงบันดาลใจมาจากไตรภูมิที่กล่าวถึง “นรก” หรือ “นรกภูมิ” ดินแดนหนึ่งที่เชื่อกันว่าผู้ที่ทำบาปตอนยังเป็นมนุษย์เมื่อเสียชีวิตแล้วจะต้องไปเกิด และถูกลงโทษตามคำพิพากษาของมัจจุราช ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับเป็นโทษของกิเลสทั้งหลาย

ทุกวันนี้อาตมาสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมกับสิ่งรอบตัวไม่ว่าจะ เป็นสื่อสังคมออนไลน์ สังคมภายนอก สังคมศาสนา การเมืองต่างๆ จนบางครั้งอาตมาคิดว่าสิ่งเหล่านี้ที่มันเกิดปัญหามีต้นตอมาจากกิเลส เพราะในสังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ เต็มไปด้วยคนไม่ดี ที่คอยรังแก ขัดขวาง เบียดเบียน คนดีไม่ให้ทำดี บุคคลเหล่านี้เป็นผู้มากด้วยกิเลส ที่จะคอยขัดขวางทุกอย่าง ไม่ให้หลุดพ้น เพื่อบรรลุธรรมเป็นพระอริยะบุคคลได้ จึงได้นำหลักธรรมหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับกิเลส ที่อยู่ในพระไตรปิฎก ไตรภูมิ ความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ โลกหลังความตาย ประสบการณ์ ผสมผสานกับจินตนาการในจิตสานึกมาใช้เพื่อเป็นแนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชุดนี้ขึ้น เพื่อเป็นกุศโลบายให้ผู้คนตระหนักถึงบาปบุญคุณโทษ รู้เท่าทันกิเลส มีความละอายต่อบาปความเกรงกลัวต่อบาป หิริโอปตัปปะ เพราะธรรมข้อนี้เป็นพื้นฐานที่สุดในหลักพุทธธรรม โดยนำเนื้อหาและนี้มาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในหัวข้อ “อบาย” (The Hell)

“อบาย” (The Hell) ผลงานชุดนี้เป็นการสร้างกิเลสต่างๆให้เกิดเป็นรูปลักษณ์ โดยนำมาตีความให้เข้าใจได้มากขึ้นโดยเสนอผ่านเรื่องของกฎแห่งกรรมโดยใช้เรื่องราวของนรก ชึ่งนำเสนอโลกหลังความตาย นรก เปรต อสูรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ผลงานเสนอความน่าสะพรึงกลัว เจ็บปวด อึกอัด รุนแรง และสะเทือนใจ เพื่อถ่ายทอดด้านลบของจิตใจมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษและเรื่องเวรกรรมของชาวพุทธในไทย จึงสร้างงานศิลปะเพื่อใช้เป็นกุศโลบายสอนชาวพุทธ ให้เกิดความกลัวบาป ไม่ตกเป็นทาสกิเลสได้

ภาคินี ศรีเจริญสุข

งานของเรามักจะเริ่มต้นจากความสัมพันธ์ในช่วงชีวิตนั้นๆ ของตัวเองเป็นหลัก มันมาจากการที่เราเป็นคนชอบสำรวจ ทั้งสำรวจตัวเอง สำรวจความคิด สำรวจสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว และตั้งคำถามกลับไปกลับมา

จนกระทั่งช่วงชีวิตเดินมาถึงช่วงที่ว่างเปล่า (Blank period) เรารู้สึกสับสนกับทุกสิ่งที่เป็นอยู่ ไม่เข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มันเหมือนมีเครื่องหมายคำถามอันใหญ่เกิดขึ้นในชีวิต ที่ต่อให้เราพยายามหาคำตอบเท่าไหร่ก็ไม่เคยได้สิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นคำตอบที่พอใจเลย เราจึงหยิบสภาวะนี้มาขยายต่อให้กลายเป็นผลงาน เพราะเราเชื่อว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นไม่มีอะไรเป็นเรื่องใหม่ และมักจะมีสิ่งที่เรียกว่า collective unconscious อยู่เสมอ พอค้นคว้าไปเรื่อยๆ จนเจอประเด็นที่สามารถช่วยเล่าสภาวะนี้ของเราได้คือ “flesh and spirit” ที่เป็นหัวข้อคลาสสิกเกี่ยวกับปมนึงของชีวิตมนุษย์ เราเลยแบ่งงานเป็น 2 ส่วน

ส่วนที่หนึ่งเป็นตัวแทนของ flesh เราชอบประโยคที่ว่า “คนเราแบกภาระอะไรเอาไว้แตกต่างกัน” เลยให้ ลังใส่ผลงานเป็นเหมือนตัวแทนของสัมภาระเหล่านั้นที่บรรจุน้ำหนักและเรื่องราวต่างๆ เอาไว้ ของแต่ละชิ้นจะมีเรื่องเล่าเป็นของตัวเองแตกย่อยออกไปให้ได้สำรวจเพิ่ม เป็นตัวแทนของเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมาในช่วงอายุ 30 ปี

ส่วนที่ 2 ผลงานวาดเส้น ทะเลทราย เป็นตัวแทนของ spirit ที่เป็นสัญญะคลาสสิกของการเดินทางเช่นกัน ไม่เพียงแต่แค่ทางกายภาพเท่านั้นแต่รวมไปถึงทางจิตวิญญาณด้วย ทะเลทรายเป็นสถานที่ที่คุณสามารถค้นพบตัวเอง และสูญเสียตัวเองได้ไปพร้อมกัน สำหรับงานชุดนี้ เราอยากให้ 2 โลกนี้มีบทสนทนาซึ่งกันและกัน มันอาจจะไม่ใช่บทสนทนาที่ใหญ่โตพอจะช่วยขับเคลื่อนการเมืองหรือสังคมได้ ซึ่งสำหรับเราการได้เข้าใจและรับรู้ถึงการมีตัวตนอยู่ของตัวเองก็สำคัญไม่แพ้กัน

มณีรัตน์ ธรรมนารักษ์

จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์  สาขาทัศนศิลป์ ภาควิชาศิลปไทย มณีรัตน์ทำงานในรูปแบบจิตรกรรม สื่อผสมและจัดวาง เป็นศิลปินที่เกิดและเติบโตในภาคใต้ ในปี 2012 เธอได้ไปใช้ชีวิตที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ซึ่งเธอได้สัมผัสกับวัฒนธรรม วิถีชีวิต อัตลักษณ์ความเป็นอยู่ ทำให้เธอสนใจการทำงานเกี่ยวกับการสำรวจความรู้สึก การใช้ชีวิต ผู้คน สถานที่ สภาพแวดล้อม จนเกิดเป็นงานชุด จินตภาพจากวิถีชีวิตและอีกหลายๆ ชุดต่อเนื่องตามมา จนมาถึงปัจจุบัน เธอยังคงหลงใหลในการหยิบยกประเด็นถิ่นที่อยู่อาศัยในสถานที่ ที่ประสบพบเจอในบริบทที่แตกต่างกัน ใช้เป็นเนื้อหา และนำวัสดุจากสถานที่จริงมาใช้ในการทำงาน สร้างเป็นผลงานใหม่ พื้นที่ใหม่ของตัวเอง เพื่อบอกเล่าความเป็นไปของคนในพื้นที่ รวมถึงการเป็นกระบอกเสียงถ่ายทอดปัญหาที่ยังไม่ถูกนำเสนอ ถูกถ่ายทอดในบางพื้นที่ สะท้อนผ่านงานศิลปะร่วมสมัย             

มาริษา ศรีจันแปลง

มาริษาตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์พื้นถิ่นในพื้นที่ชายแดนไทยกัมพูชาของจังหวัดสุรินทร์จากประสบการณ์ส่วนตัวในการเป็นคนไทยเชื้อสายกัมพูชาที่เติบโตมาภายใต้ความพร่าเลือนของพรมแดนและวิถีชีวิต ผ่านเรื่องเล่าของครอบครัวและเรื่องราวในความทรงจำ การสำรวจเดินทางไปถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชาในช่วงปี 2518 ที่ครอบครัวของศิลปินได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณยายที่กระทบกระเทือนจิตใจจากผลกระทบของสงคราม คุณแม่ที่ใช้ชีวิตดูแลทั้งคุณยาย ลูก และหลานที่รุ่นพ่อแม่ได้รับผลจากสงคราม หรือคุณป้าที่เป็นคนไทยแต่จำต้องลี้ภัยในฐานะคนกัมพูชาไปประเทศสหรัฐอเมริกาพร้อมครอบครัวภายหลังสงคราม ไปจนถึงการตั้งคำถามถึงผลกระทบร่วมกันที่ไม่อาจขีดกั้นด้วยเส้นชายแดนและความเป็นรัฐ สงครามดังกล่าวมีญาติพี่น้องและคนในครอบครัวของศิลปิน พร้อมกับคนอีกนับล้านที่เผชิญกับเรื่องราวเดียวกัน ระหว่างบรรทัดของโศกนาฎกรรมในตำราประวัติศาสตร์ มีผลพวงภายหลังสงครามที่ปรากฎในชีวิตของผู้คนตัวเล็กจำนวนมากมาย ผู้คนตายจาก สูญเสีย พยายามดิ้นรนให้มีชีวิตอยู่ต่อ กระจัดกระจาย และแตกสลายในแบบที่ไม่อาจจินตนาการถึงความเจ็บปวดได้

มาริษาพยายามทำความเข้าใจว่าภายหลังประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ผู้คนมีชีวิตต่อไปอย่างไร และอยากสื่อสารความรู้สึกปลอบประโลม ไว้อาลัย และยกย่องความพยายามมีชีวิตต่อไปอย่างสุดกำลังของผู้คน ในฐานะลูกหลานของผู้มีชีวิตรอดจากสงคราม และในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ได้รับรู้ประวัติศาสตร์บาดแผลที่มีร่วมกันในฐานะมนุษยชาติ วิดีโอและประติมากรรมของงานศิลปะในโปรเจคนี้เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดพิธีกรรม “แซนโฎนตา” (สารทเขมร) ซึ่งเป็นประเพณีท้องถิ่นที่ยังหลงเหลืออยู่ ในการรำลึกถึงบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายกัมพูชาและชาวกัมพูชา โดยมีของเซ่นไหว้สำคัญของพิธีนี้คือ “บายเบ็ณฑ์’ หรือข้าวต้มมัด ซึ่งมีความหมายถึงการรวมให้เป็นก้อน การปั้นให้เป็นก้อน การหาเลี้ยงชีวิตหรือหมายถึงก้อนข้าว ของเซ่นไหว้สำคัญอีกอย่าง คือ ดอกไม้ในพิธีที่เรียกว่า “ผกาบายเบ็ณฑ์” มาสื่อสารในงาน จากการค้นหาข้อมูล พบว่าดอกไม้ชนิดนี้ถูกบันทึกไว้เพียงแค่ ‘เป็นดอกหญ้า มีกลิ่นหอม สีขาวคล้ายดอกมะลิ  ขึ้นในช่วงเวลาแซนโฎนตาของทุกปี และเมื่อสิ้นประเพณีดอกหญ้านี้ก็จะร่วงโรยราไป’ โดยไม่แน่ชัดว่าเป็นดอกไม้ชนิดใด อีกองค์ประกอบสำคัญของงานชิ้นนี้จึงเกี่ยวข้องกับการตามหาผกาบายเบ็ณฑ์ ทำให้พบดอกไม้ชนบทอย่างดอกรักและดอกหญ้า ซึ่งมีเกสรปลิวไปตามสายลม กระจัดกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ริมทาง และงอกงามเป็นต้นใหม่ด้วยตัวเอง

สิกานต์ สกุลอิสริยาภรณ์

ใน Rehearsal for the Missing Parts [1-8] ศิลปินจินตนาการถึงละครเวทีที่ไม่มีอยู่ซึ่งก่อร่างขึ้นในรูปแบบของเรื่องราวที่ขาดแหว่งและแตกสลายผ่านการเขียนแทรกหน้าลงในหนังสือหลายเล่มที่มีตีพิมพ์อยู่แล้ว โดยจุดเริ่มต้นของบทละครที่ไม่มีอยู่นี้เป็นเรื่องราวในตอนหนึ่งของนวนิยายสี่แผ่นดิน ซึ่งตัวละครแม่พลอยได้เข้าชมละครพูดที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงเป็นผู้ประพันธ์ขึ้นและทรงแสดงเอง โดยศิลปินได้จินตนาการถึงละครบทนี้ที่ในนวนิยายไม่ได้เขียนไว้ขึ้นมา ด้วยการประกอบรวมหน้าที่ศิลปินเขียนแทรกลงในหนังสือหลายเล่มที่ศิลปินเลือกจากเนื้อหาและบริบททางสังคม ทั้งหนังสือที่เป็นเรื่องแต่ง (fiction) และไม่ใช่เรื่องแต่ง (non-fiction) เข้าเป็นชิ้นส่วนของบทละครซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นบทเล่าเรื่อง บทพูด ฉาก อุปกรณ์ประกอบฉาก เพลง และองค์ประกอบอื่นๆ ร่องรอยที่กระจัดกระจายของการแสดงที่ไม่เคยเกิดขึ้นนี้เดินทางผ่าน หันกลับไปมอง และในบางครั้งก็ตั้งคำถามต่อเศษเสี้ยวของเรื่องราวในอดีตและปัจจุบันของไทยที่บันทึกอยู่ในทั้งเนื้อหาและบริบททางสังคมของหนังสือที่ศิลปินให้ความสนใจ โดยผลงานที่แสดงกระจายอยู่ทั่วนิทรรศการคือเนื้อหาของหน้าแทรกที่ศิลปินเขียนขึ้น ซึ่งจะนำไปแทรกในหนังสือที่อยู่ในห้องสมุดและร้านหนังสือต่อไป ในทางหนึ่งศิลปินสนใจงานเขียนในฐานะหนึ่งในเครื่องมือกำหนดเขตแดนของสิ่งที่ถูกนับและไม่ถูกนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของอดีตและปัจจุบัน และในอีกทางหนึ่งในฐานะเครื่องมือบันทึกความเป็นไปไม่ได้ไร้ขอบเขตที่ประจุไปด้วยความเป็นไปได้ของการเกิดขึ้น

ติดต่อได้ทางโทรศัพท์ 02 214 6630 – 529, info@bacc.or.th, earlyyearsproject@gmail.com, www.bacc.or.th, www.facebook.com/baccpage, www.facebook.com/EarlyYearsProject

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *