3 ผู้สร้างแรงบันดาลใจใน “Mango Art Festival 2023”

คุยกับ 3 ผู้สร้างแรงบันดาลใจในแวดวง Art & Design ศิลปินแห่งชาติและสถาปนิกระดับตำนาน อาจารย์ “นิธิ สถาปิตานนท์” ผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิก 49 (A49), “อมรเทพ คัชชานนท์” Founder & Design Director ของแบรนด์ AmoArte เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในฐานะ Designer of The Year Awards 2017 ผู้สร้างสรรค์ผลงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ในมิติที่แตกต่างจนได้รับคัดเลือกให้นำไปใช้ในร้าน Starbucks หลายสาขาทั่วเอเชีย แล้วยังได้รับการเชิญชวนไปร่วมจัดแสดงในนิทรรศการ Art & Design หลายประเทศทั่วโลก และ “แหวว ลลิดา ลีละยูวะ” อินทีเรียสาวมากความสามารถ ผู้รับหน้าที่เป็นคิวเรเตอร์คัดสรรผลงานของนักออกแบบชื่อดังและรุ่นใหม่ฝีมือไม่ธรรมดา รวมทั้งรวบรวมผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นพิเศษใน “Product Design Zone” และ “Gallery Zone” ภายใน “Mango Art Festival 2023” เทศกาลศิลปะที่มีชีวิตชีวาและสีสันมากที่สุดในประเทศไทยที่  ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ระหว่างวันที่ 2-7 พฤษภาคม 2566 นี้

“แหวว-ลลิดา” กล่าวว่า “ปีนี้มีผลงานมาสเตอร์พีซหลายชิ้นที่ถือเป็นไฮไลท์ของ Mango Art Festival เลยก็ว่าได้ด้วยความที่เราปรับเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมและขยายขอบเขตของคำว่า ‘Product Design’ ซึ่งนอกเหนือจากเฟอร์นิเจอร์ แล้วยังมี Jewelry Design จนถึงการออกแบบของศิลปินไทยที่ได้ร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลก ในฐานะคิวเรเตอร์ของโซน Product Design ต้องบอกว่าแหววชอบทุกงานเลยค่ะ ระหว่างคัดเลือกผลงานมาจัดแสดงทั้งรู้สึกตื่นเต้นและมีความสุขมากในเวลาเดียวกันการที่เราต้องคัดเลือกผลงานให้เหลือเพียง 22 แบรนด์ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเราอยากให้ผู้ชมรู้สึกถึงความเป็นมาสเตอร์พีซจริงๆ บางชิ้นคุณอาจไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนในประเทศไทย ขณะเดียวกันศิลปินและดีไซเนอร์ก็ได้แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดจนถึงสร้างแรงบันดาลใจให้กันและกันผ่านพื้นที่สร้างสรรค์ที่ชื่อ Mango Art Festival”

“นิธิ สถาปิตานนท์” กล่าวว่า “ปัจจุบันผมอายุ 76 ปีแล้วก็เลยคิดว่า นี่อาจจะเป็นปีสุดท้ายที่ผมจะสร้างผลงานมาร่วมจัดแสดงในเทศกาลศิลปะ เพราะผมตั้งใจว่าจะทำงานออกแบบให้น้อยลง เขียนหนังสือให้มากขึ้นผมจึงเชิญศิลปินหลายท่านมาร่วมแสดง รวมถึงนำของสะสมส่วนตัวมาจัดแสดง หลายคนที่ได้เข้าร่วมงานนี้จะได้สัมผัสความรื่นรมย์ของศิลปะ เหมือนที่ผมชอบงาน Pure Art ที่เต็มไปด้วยความสวยงามและความสมดุลในทุกมุมมอง เสน่ห์ของ Mango Art Festival คือทำให้เรามีโอกาสได้พบเจอศิลปินรุ่นใหม่จากหลายวงการรวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามามีบทบาทในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและการออกแบบมากขึ้น ซึ่งผมมองว่า เทคโนโลยีเหล่านี้จะทำลายขีดจำกัดเดิมๆ เพื่อให้ศิลปินและดีไซเนอร์สามารถสร้างสรรค์ผลงานในจินตนาการออกมาได้อย่างเต็มที่ และทำงานที่สนุกมากขึ้น”

นอกจากนี้ อาจารย์นิธิยังได้จัดแสดง “NITHI Final Sketchbook Episode 5: My Dreaming of Furniture Design” หนังสือปกแดงเล่มใหญ่ดีไซน์สวยที่วางจำหน่ายในงานนี้ด้วย “ในเล่มนี้ผมถ่ายทอดเรื่องราวของผู้คนในวงการเฟอร์นิเจอร์ไม้จากทั่วประเทศรวมถึงงานสเก็ตซ์และแรงบันดาลใจที่ผมได้รับในการสร้างสรรค์ผลงาน ที่หลายคนอาจจะเคยได้พบเห็นตามสถานที่ต่างๆ เพราะผมอยากบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาผ่านตัวหนังสือ ซึ่งคุณจะได้สัมผัสหนังสือเล่มนี้ภายในงานเช่นกันครับ”

“อมรเทพ คัชชานนท์” พูดว่า “ส่วนตัวผมเป็นคนชอบงานศิลปะอยู่แล้ว ผมจึงอยากผสมผสานความเป็นศิลปะลงไปในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เพราะผมอยากให้ผู้คนรู้ว่า เฟอร์นิเจอร์ก็เป็นผลงานศิลปะของบ้านได้เช่นกัน และเป็นงานศิลปะที่มีฟังก์ชันการใช้งานได้จริง ควบคู่กับการส่งเสริมความยั่งยืนที่เราทำมากว่าสิบปีแล้วครับ ผมจึงบอกเล่าความเป็นวิถีชีวิตของชุมชนผ่านไม้ไผ่ในแต่ละท้องถิ่น เพื่อให้คนเห็นคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุพื้นบ้านของไทย มันจะนำไปสู่การส่งเสริมความยั่งยืนในที่สุด”

AmoArte เป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่เน้นการเพิ่มมูลค่าของวัสดุพื้นถิ่น ผ่านการออกแบบร่วมสมัยและเรื่องเล่าละมุนใจในแบบ Storytelling ทำให้ผลงานเฟอร์นิเจอร์จากไม้ไผ่และไม้ตาล สร้างชื่อเสียงให้แบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากล “ผลงานไฮไลท์ของปีนี้ผมจะดีไซน์พาทิชันจากไม้ไผ่เพื่อให้คนเห็นว่า ไม้ไผ่เป็นมากกว่าวัสดุพื้นบ้านที่หลายคนคุ้นตา แต่เราสามารถนำมาใส่ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าได้เช่นกัน เวลาเราไปออกงานแฟร์ในต่างประเทศ ชาวต่างชาติเลยชื่นชอบความเป็น Craftmanship ที่มีกลิ่นอายของเอเชียทำให้เราได้รับผลตอบรับที่ดี ผมจึงมองตัวเองในฐานะผู้นำพาวัสดุพื้นบ้านของไทยไปสื่อสารบนเวทีต่างประเทศ”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *