“ศิลป่า เขาใหญ่” ศิลปะและธรรมชาติหลอมเป็นหนึ่ง

“ศิลป่า เขาใหญ่” (Khao Yai Art Forest) ต. โป่งตาลอง อ. ปากช่อง นครราชสีมา ก่อกำเนิดโดยคุณมาริษา เจียรวนนท์ และ สเตฟาโน ราโบลลี แพนเซรา เป็น Artistic Director มาจากคำว่า “ศิลปะ” และ “ป่า ที่สะท้อนถึงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนและผลักดันศิลปินให้สร้างสรรค์ผลงานท่ามกลางธรรมชาติ ที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่จัดแสดงงานศิลป์ แต่ยังเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิด การร่วมสร้าง และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ศิลปะ และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติ ผ่านกิจกรรมและโครงการศิลปะที่ส่งเสริมแนวทางการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน เปิดวันพฤหัสบดี–วันศุกร์ เวลา 12.30–18.00 น. และ วันเสาร์–วันอาทิตย์ เวลา 10.00–18.00 น. (เข้าชมรอบสุดท้ายก่อนเวลา 17.30 น.)

แลนด์มาร์คนี้กับผลงานศิลปะร่วมสมัยจากศิลปินไทยและระดับโลก

Maman (ปี 2542) โดย หลุยส์ บูร์ชัวส์ ประติมากรรมแมงมุมบรอนซ์ขนาดยักษ์ ตั้งตระหง่านอย่างสง่างามท่ามกลางภูมิทัศน์ธรรมชาติ Maman เป็นตัวแทนของแม่ ผู้ทั้งโอบอุ้มและปกป้อง แข็งแกร่งแต่เปราะบาง อบอุ่นแต่เปี่ยมด้วยอำนาจ สะท้อนความรักอันลึกซึ้งหลายมิติที่ศิลปินมีต่อแม่ของเธอ

Khao Yai Fog Forest, Fog Landscape #48435 (ปี 2567) โดย ฟูจิโกะ นากายะ ประติมากรรมหมอก เผยให้เห็นพลังงานที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในระบบนิเวศ หมอกเป็นเสมือนสื่อกลางที่ขับเน้นการรับรู้พลวัตของสิ่งแวดล้อมรอบตัว เชื่อมโยงความสัมพันธ์อันละเอียดอ่อนระหว่างลม อุณหภูมิ ความชื้น และความกดอากาศ ประติมากรรมหมอกเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของศิลป่า เขาใหญ่ ละอองหมอกทั้งหมดเกิดจาก “น้ำที่ผลิตจากอากาศ” โดยใช้เทคโนโลยีของ Aquaria ผู้คิดค้นและพัฒนาเครื่องผลิตน้ำจากอากาศ เพื่อนำอากาศรอบตัวเรามาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ขณะที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำ วันพฤ.–ศ. เวลา 16.00 น. วันส.–อา. เวลา 11.30 น. และ 16.30 น.

K-BAR (ปี 2567) โดย เอล์มกรีน&แดร็กเซต บาร์ลึกลับกลางผืนป่า ที่ไม่เพียงเชื้อเชิญให้หยุดพัก หากยังตั้งคำถามถึงความแปลกต่างระหว่างความหรูหราในเมืองกับธรรมชาติที่บริสุทธิ์ เปิดให้บริการเพียงเดือนละครั้ง (ทุกวันเสาร์ที่ 2 ของเดือน) รองรับเพียง 6 ที่นั่ง แม้ในเวลาที่บาร์ปิด ผู้มาเยือนยังสามารถชมภายในผ่านกระจกใสบานใหญ่

GOD (ปี 2567) โดย ฟรานเซสโก อารีนา ประติมากรรมสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับจิตวิญญาณ ความสัมพันธ์ของมนุษย์ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับความทรงจำทางวัฒนธรรม หินสองก้อนเมื่อนำมาซ้อนกันจะปรากฏคำว่า “God” แต่ไม่สามารถเห็นได้โดยตรง เช่นเดียวกับการจับต้องไม่ได้ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งดำรงอยู่ในมิติที่เหนือกว่าการรับรู้ทางสายตา

Madrid Circle (ปี 2531) โดย ริชาร์ด ลอง วงแหวนหินที่เรียงวางกลางผืนป่า เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวกัน ความต่อเนื่อง และความสมดุล สะท้อนถึงวัฏจักรของชีวิตและจักรวาล รูปทรงพื้นฐานนี้ตัดกับความไม่เป็นระเบียบของป่ารอบข้าง เปิดพื้นที่ให้ผู้ชมครุ่นคิดถึงปฏิสัมพันธ์ ระหว่างเจตจำนงของมนุษย์และความดิบของธรรมชาติ

Two Planets (ปี 2551) โดย อารยา ราษฎร์จำเริญสุข โลกสองใบที่แตกต่างมาบรรจบกัน ระหว่างชาวบ้านในชนบทของไทยกับผลงานศิลปะที่มีชื่อเสียงในโลกตะวันตก หัวใจของงานนี้คือ แนวคิดเรื่อง “บทสนทนาที่เป็นไปไม่ได้” พัฒนาไปสู่การดำรงอยู่ร่วมกันและความเข้าใจในความแตกต่าง กระตุ้นให้ผู้ชมพิจารณาบทบาทของตนเองที่เชื่อมโยงระหว่างช่องว่าง ทั้งในชุมชนและระหว่างความเป็นมนุษย์กับโลกธรรมชาติ

Pilgrimage to Eternity (ปี 2567) โดย อุบัติสัตย์ ประติมากรรม 9 ชิ้นที่กระจายตัวอยู่ทั่วผืนป่า ผลงานนี้มีรากฐานมาจากการสร้างเจดีย์ที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ถูกนำมาตีความใหม่ เกิดเป็นบทสนทนา ระหว่างพุทธปรัชญา ความไม่เที่ยง และความสมดุลของนิเวศ

นอกจากนี้ “ศิลป่า เขาใหญ่” ยังมอบประสบการณ์ทางรสชาติผ่านเมนูพิเศษ “Forest Foods” โดยมูลนิธิ Chef Cares ร่วมกับเชฟหนุ่ม–วีระวัฒน์ ตรียเสนวรรธน์ ผู้บุกเบิกแนวทางอาหารอีสานร่วมสมัยที่สร้างสรรค์จากการมองย้อนกลับไปดูความอุดมสมบูรณ์ของพืชผลโดยเฉพาะจากผืนป่าและภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมาจากบรรพบุรุษ พร้อมเปิดรับการเปลี่ยนแปลงของโลกผสานกับแนวทางความยั่งยืน มื้อกลางวัน พฤ.–ศ. เวลา 13.00–14.00 น. ส.–อา. เวลา 12.00–13.00 น. มื้อค่ำ ทุกวัน เวลา 17.00–18.30 น.

บัตรเข้าชม บุคคลทั่วไป ราคา 500 บาท นักเรียน นักศึกษา และ ผู้สูงอายุ ราคา 250 บาท ลูกค้าร้าน % ΔRΔBICΔ Khao Yai Art Forest Pop-Up เข้าชมฟรีจนถึงกลางเดือนสิงหาคมนี้ สำรองได้ที่ www.khaoyaiart.com

ติดตามได้ที่ Instagram: khao_yai_art_forest, Facebook: Khao Yai Art Forest, 085-501-4886

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *