นิทรรศการ “ร้องรำทำเพลง” จากคีตศิลป์สู่หัตถศิลป์

“ร้องรำทำเพลง: คีตศิลป์แห่งนครศรีธรรมราช” นิทรรศการภายใต้โครงการวิจัยการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช ได้ใช้แนวคิดของความสนุกสนานและเสียงดนตรีมานำเสนอผ่านงานหัตถศิลป์จากคีตศิลป์และศิลปะการแสดงอันเป็นเอกลักษณ์และวิถีชีวิต อาทิ หนังตะลุง เครื่องแต่งกายโนรา ลูกปัดโนราและเทริดโนรา และกรงนกหัวจุกที่มีเทคนิคและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ณ บ้านท่านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ ถนนราชดำเนิน จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่วันนี้จนกระทั่ง 31 มีนาคม 2566 เวลา 09.00 – 16.00 น.

“หนังตะลุง” หนึ่งในมหรสพการแสดงเงาของไทย สร้างความครื้นเครงและสนุกสนามให้กับผู้ที่ได้รับชม ตัวหนังตะลุงแต่ละตัวจะมีรูปลักษณ์และบทบาทที่แตกต่างกันไป มักจะมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตและเหตุการณ์สำคัญของชาวใต้และประเทศในขณะนั้น สะท้อนสภาพสังคม ค่านิยมและโลกทัศน์ของชาวใต้ในแต่ละช่วงเวลาไว้

“มโนราห์” จากมรดกทางวัฒนธรรมแห่งปักษ์ใต้สู่มรดกโลก จะนำเสนอมุมมองของโนราในเรื่องของงานช่างหัตถศิลป์ อันได้แก่ เครื่องแต่งกายโนราที่มีพัฒนาการในแต่ละยุคสมัยจากชุดแบบโบราณสู่การออกแบบร่วมสมัย ในการนำหัวนะโมมาออกแบบผ่านลูกปัดบนเครื่องแต่งกายโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุพัฒน์ นาคเสน และเครื่องประดับของชุดโนราที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีพัฒนาการของเครื่องแต่งกายที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเทริดที่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญและมีคุณค่าทางด้านความเชื่อและจิตใจของลูกหลานชาวโนรา

“คีตศิลป์จากธรรมชาติ” บทเพลงจากนกกรงหัวจุกตัวน้อยนี้เองที่เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นสำคัญของการรังสรรค์งานช่างหัตถศิลป์กรงนกขึ้นมาเพื่อให้นกอันเปรียบได้กับสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวได้อาศัยอยู่และขับกล่อมให้เสียงอันไพเราะฟังในทุกวัน ซึ่งภายในมีการจัดแสดงกรงนกที่มีลักษณะลวดลายและเทคนิคที่แตกต่างกันไป กรงแต่ละกรงนั้นยังคงสะท้อนถึงความประณีตและความงามของฝีมือครูช่างที่ได้สร้างสรรค์กรงนกเหล่านี้ขึ้นมาอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเมืองนครฯและภาคใต้ เช่น กรงนกโบราณทรงโบกี้รถไฟ กรงนกฝังมุกไฟลวดลายดอกไม้ กรงนกแกะงาช้าง

ภายในงานยังมีการถอดสุนทรียะของงานหัตถศิลป์เหล่านี้โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติและมีกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนในด้านการต่อยอดงานหัตถศิลป์ท้องถิ่นอันควรค่าแก่การอนุรักษ์รักษาไว้ผ่านกิจกรรมลูกปัดโนราซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องลูกปัดบนเครื่องต่างกายชุดโนรา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *