“The Journey” เส้นทางของฟ้าสาง ศิลปิน Abstract

ฟ้าสาง นาวาอรัญ (Fasang Nava-aran) ศิลปินสไตล์ Abstract ชาวโคราช อายุ 56 ปี ได้กำลังแสดงผลงานทั้งเก่าและใหม่ในนิทรรศการเดี่ยวชื่อว่า “The Journey” ณ ริชาร์ด โคห์ ไฟน์ อาร์ต ชั้น 9 อาคารปีเตอร์สัน ระหว่างวันที่ 18 กุมภาพันธ์ – 25 มีนาคม 2566

คิวเรเตอร์ นิ่ม นิยมศิลป์ เล่าว่า “นิทรรศการที่ชื่อว่า “The Journey” คือเราอยากจะให้คนเข้ามาทำความรู้จักกับศิลปินคนนี้ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การเดินทางของเขาเป็นอย่างไร เราเห็นช่วง Period of Life ได้จากผลงาน จาก Objects ที่เขาเลือกใช้ นิทรรศการนี้ มีทั้งงานชุดใหม่และชุดเก่า นำมาแสดง รวมทั้งผลงานปี 2005 น่าจะเก่าสุดในชุดนี้ และ  ปี 2017 และ 2018 ปี 2017 เราจะเห็นงานเป็น Collage เอาผ้าแปะบน Canvas และมีทรายเป็นส่วนผสมด้วย”

ผลงานชิ้นหนึ่งแนว Mixed Media ของเขาที่ได้ไปแสดงในงาน Biennale Non-Objective Art ที่ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2013 ฟ้าสาง เล่าว่า “สื่อถึงเรื่องราว นอกจากการใช้วัสดุที่อยู่รอบๆ ตัวมาเป็นชิ้นงานศิลปะ มันแทบจะไม่มีนะ เพราะว่างานผมดูจาก มีกล่องกระดาษกล่องหนึ่งและคิดต่อจากนั้นเลยว่ามีอะไรมาเพิ่มมั้ย ทำอย่างไรให้เป็นงานศิลปะได้ นี่คือลักษณะของงานนามธรรม สะท้อนถึงสิ่งที่มีอยู่รอบๆ ตัวเรา ทุกอย่างสามารถเป็นศิลปะได้หมด ผ่านกระบวนความคิด มีกล่องกระดาษ มีเศษไม้ เราหยิบตรงนี้มา เราก็คิดว่ามีอยู่แค่นี้เป็นงานศิลปะได้มั้ย ทางยุโรปเขาทำกันจริงจังมาก เขาก็ศึกษาหลายๆ ด้าน บางคนก็ทำควบคู่กับเพลง หรืออย่างอื่น เป็นสื่อผสม”

ผลงานชุดใหม่เป็นงาน Painting กับลวดลายทรงเรขาคณิต แบ่งออกเป็น 2 โทนสีแดงและเขียว แต่ยังคงยืนพื้นด้วยสีขาวและดำ ที่เขาชื่นชอบ เหตุผลหนึ่งคือฟ้าสาง เคยศึกษาจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

ฟ่าสาง เล่าว่า “มันคือการพัฒนาการ การคลี่คลายจากประสบการณ์การทำงาน เป็นลายเส้น การใช้สี Monochrome แอดขาวแอดดำ สร้าง Layer ของงาน เส้นโค้งก็มีในผลงานในปี 2018 แต่ส่วนใหญ่เป็นเหลี่ยมมากกว่า แน่นอน เส้นสายต่างๆ มันก็บ่งบอกอุปนิสัยของคนที่่ทำงานสุดโต่ง นี่คือส่วนหนึ่งที่ได้จากเรขาคณิต มันพ้องกับนิสัยส่วนตัวของคนทำ คือจริตที่เราชอบ

“โทนสีมาจากประสบการณ์ที่้เคยทำงานมา คลี่คลายและพัฒนามาเป็นแบบนี้ มันเป็นโทนมากกว่า ทุกสีผมเบรกหมด ไม่ใช่สีสดจากหลอด ช่วงเวลาหนึ่ง คืองานลักษณะนี้ไม่ได้เจาะจงอะไรมากมาย จริงๆ ชอบ ขาว ดำ และเทา ในเฟรมหนึ่ง ต้องมีสีขาวดำเป็นส่วนประกอบ สำหรับโทนสีเขียว มันก็บ่งบอกโทนเย็นโทนร้อน ธรรมชาติทั่วๆ ไปก็เป็นแบบนี้ มันก็มีส่วนนะที่การเลือกสีเกี่ยวกับอารมณ์ แต่จริงๆ แล้ว จังหวะในการทำงานจะเอาอารมณ์ไม่ได้นะ”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *